นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์การใช้น้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง ว่า
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีความเป็นห่วงเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้เพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้ว โดยเฉพาะการทำนาปรัง เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำปริมาณมากและใช้ระยะเวลาการปลูกค่อนข้างนาน อาจเสี่ยงกับสภาพอากาศแปรปรวนและสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงได้ เนื่องจากขณะนี้พื้นที่ในเขตชลประทาน 12 จังหวัด มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังมากกว่าแผนไปแล้ว 0.69 ล้านไร่ ได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร สุโขทัย อุตรดิตถ์ กรุงเทพมหานคร ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และฉะเชิงเทรา
โดยได้สั่งการให้ กอนช.ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำและการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรอย่างใกล้ชิด และได้หารือร่วมกับกรมชลประทานในการวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งพื้นที่ในเขตชลประทาน ทั้งการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืช การติดตามประเมินผล การวางแผนจัดสรรน้ำแบบรอบเวร การเตรียมแผนลำเลียงน้ำจากแหล่งน้ำสำรอง การเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมเข้าช่วยเหลือหากเกิดกรณีวิกฤติ รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม เพื่อช่วยเหลือผลผลิตของเกษตรกรไม่ให้ได้รับความเสียหาย
สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน (ข้อมูล 1 พ.ย.64-5 ม.ค.65) มีพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 3.72 ล้านไร่ จากแผน 4.98 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ในเขตชลประทาน 2.87 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.85 ล้านไร่ โดยเป็นการทำนาปรังในเขตชลประทาน 2.80 ล้านไร่ (แผน 2.81 ล้านไร่) และนอกเขตชลประทาน 0.62 ล้านไร่ (แผน 1.45 ล้านไร่) รวมทั้งการปลูกพืชไร่พืชผักในเขตชลประทาน 0.07 ล้านไร่ (แผน 0.06 ล้านไร่) และนอกเขตชลประทาน 0.22 ล้านไร่ (แผน 0.66 ล้านไร่) ในส่วนปริมาณน้ำใช้การของ 4 อ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์)
ขณะที่วันที่ 6 ม.ค.65 มีปริมาณน้ำใช้การรวมอยู่ที่ 7,199 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยมีแผนการจัดการน้ำทั้งฤดูแล้งอยู่ที่ 4,700 ล้าน ลบ.ม. และมีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 1,420 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งมากกว่าแผนสะสม 6 ล้าน ลบ.ม.
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า แม้แผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำของทั้ง 4 อ่างเก็บน้ำหลักเพียงพอตลอดทั้งฤดูแล้ง แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด และเพื่อความไม่ประมาทที่อาจประสบกับภาวะฝนทิ้งช่วงนานกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ อีกทั้งต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการผลักดันน้ำเค็มไม่ให้กระทบต่อการผลิตน้ำประปา ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้หน่วยงานภายใต้ กอนช. เร่งสำรวจแหล่งน้ำสำรองที่สามารถสนับสนุนน้ำได้และเร่งซ่อมแซมให้มีสภาพพร้อมใช้งาน วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและวางแผนจัดสรรน้ำอย่างรอบคอบรัดกุม ติดตามการเพาะปลูกพืชและประเมินผลการจัดสรรน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้น้ำในกิจกรรมอื่นๆ พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ต่อสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และขอเชิญชวนเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชน้ำน้อยหรือปลูกพืชระยะสั้นแทนการทำนาปรังต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงของผลผลิตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 65)
Tags: บริหารจัดการน้ำ, ประวิตร วงษ์สุวรรณ, ฤดูแล้ง, สทนช., สุรสีห์ กิตติมณฑล, เกษตรกร, แม่น้ำเจ้าพระยา