นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กับ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (อบจ.) , สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย (อบต.) และชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ในการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่อยามชราภาพ
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จากอัตราการเกิดที่ลดลง ประกอบกับประชากรมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนของประชากรที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ประชาชนทุกคนจึงควรมีการเตรียมพร้อมในช่วงวัยยามชราภาพ
โดยรัฐบาลได้มีนโยบายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ เป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ให้ประชาชนได้มีความมั่นคงในบั้นปลายชีวิตหลังอายุ 60 ปี โดยกำหนดกิจกรรมที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชน ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมนั้นคือ การมีระบบการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ยามชราภาพที่เพียงพอ และครอบคลุมในกลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบ ซึ่งมีเป้าหมายให้คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงิน พร้อมสร้างวินัยการออมในทุกช่วงวัย จึงเป็นภารกิจที่ต้องเร่งผลักดัน
ซึ่งกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เป็นกองทุนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ถือเป็นกองทุนการออมภาคประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออม และสร้างหลักประกันทางด้านรายได้ในยามชราภาพ ให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา อสม. พ่อค้าแม่ค้า ได้มีสวัสดิการบำนาญ รวมทั้งสร้างวินัยการออมให้ประชาชนคนไทย ตั้งแต่วัยเด็กให้สามารถเข้าถึงระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุอย่างทั่วถึง สอดรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงอายุ อีกทั้งสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทย (Financial Literacy)
โดย กอช. ได้ร่วมมือกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาเป็นสมาชิก กอช. ผ่านการขับเคลื่อนของผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และสามารถสมัครผ่านที่ว่าการอำเภอ อีกทั้งตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน ในการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการออมเงินเพื่อการชราภาพ รวมถึงการกระตุ้น ส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี ที่มีสิทธิสมัคร ได้เข้าถึงสวัสดิการผ่านการออมเงินกับ กอช. โดยเริ่มต้นออมเพียง 50 บาท/ต่อครั้ง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท/ปี และรัฐสมทบ 100% (ไม่เกิน 1,800 บาท/ปี)
การดำเนินการดังกล่าวของ กอช. สอดคล้องกับเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน ที่ต้องการให้คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงิน และเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน รวมถึงมีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม กอช. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ดำเนินการขับเคลื่อนการหาสมาชิกอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีแรงงานนอกระบบอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณ และเข้าถึงสวัสดิการบำนาญ
ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผลการดำเนินงาน จึงนำไปสู่การขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับหน่วยงานในระดับพื้นที่อีก 3 แห่ง ประกอบด้วย สมาคม อบจ. สมาคม อบต. และชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ในการช่วยกันผลักดัน และส่งเสริมให้ประชาชนที่มีสิทธิ์ได้เข้ามาเป็นสมาชิก รวมถึงส่งเสริมความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินให้ทุกคนเกิดความตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการออมเงินในอนาคต
ด้าน น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย และเครือข่ายภายใต้การกำกับดูแลเป็นอย่างดี ในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มเป้าหมายสมาชิก ร่วมกันผลักดันทุกภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะความร่วมมือในครั้งนี้ จะได้ครอบคลุมในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการวางแผนทางการเงิน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 2.59 ล้านคน มูลค่ากองทุนประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท
กอช. นับเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนทางการเงิน เพียงเริ่มออมเพียง 50 บาท/ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท/ปี และมีรัฐสมทบตามช่วงอายุ ดังนี้
– อายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบ 50% ของเงินสะสม สูงสุดไม่เกิน 1,800 บาท/ปี
– อายุ 30 – 50 ปี รัฐสมทบ 80% ของเงินสะสม สูงสุดไม่เกิน 1,800 บาท/ปี
– อายุ 50 – 60 ปี รัฐสมทบ 100% ของเงินสะสม สูงสุดไม่เกิน 1,800 บาท/ปี
นอกจากนี้ การออมกับ กอช. ยังมีความยืดหยุ่น ไม่จำเป็นต้องส่งเงินออมเท่ากันทุกปี โดยเงินออมสามารถนำไปยื่นลดหย่อนภาษีประจำปีได้และยังได้รับการค้ำประกันผลตอบแทนจากการลงทุน เมื่ออายุครบ 60 อีกด้วย
ทั้งนี้ กอช. มีช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก และสำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่หน่วยรับสมัครและส่งเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ สถาบันการเงินชุมชน เคาน์เตอร์เซอร์วิส โลตัส ไปรษณีย์ไทย ตู้บุญเติม
ตลอดจนช่องทางการให้บริการรูปแบบออนไลน์ อาทิ แอปพลิเคชัน ดังต่อไปนี้ กอช. , เป๋าตัง , MyMo , กรุงไทยเน็กซ์ , เคพลัส , เป๋าตัง , ออมเพลิน อีกทั้งยังสามารถส่งเงินออมสะสม ผ่านบริการบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ (Direct Debit) รายเดือน ได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 67)
Tags: MOU, กองทุนการออมแห่งชาติ, กอช., จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ลงนาม, สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย, อบจ., อบต.