รายงานประเมินราคาค่าบริการซึ่งจัดทำโดยกองทัพอากาศสหรัฐเปิดเผยว่า ราคาอะไหล่รุ่นล่าสุดบางรายการของเครื่องบิน KC-46 ที่บริษัทโบอิ้งเสนอต่อรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น มากกว่าราคาอะไหล่ที่โบอิ้งเสนอให้กับกองทัพอากาศสหรัฐถึง 16 เท่า
ในรายงานดังกล่าวที่เผยแพร่ออกมาในเดือนพ.ค.นั้น ได้มีการยกตัวอย่างกรณีที่สัญญาจัดหาอะไหล่สำหรับเครื่องบินรุ่น KC-46 มูลค่า 79 ล้านดอลลาร์ของโบอิ้ง ซึ่งญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าอะไหล่ไฟนำทางเครื่องบินที่ผลิตโดยบริษัทฮันนี่เวลล์ในราคาที่สูงกว่าอะไหล่ตัวเดิมกว่า 1,500%
รายงานยังระบุด้วยว่า ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563 ถึงเดือนมี.ค. 2564 กองทัพอากาศสหรัฐได้พยายามขอให้โบอิ้งเปิดเผยข้อมูลเรื่องราคาอะไหล่ เพื่อพิจารณาว่าราคาไฟนำทางเครื่องบินและอะไหล่รายการอื่นๆ นั้นเหมาะสมและเป็นไปตามข้อบังคับของรัฐบาลสหรัฐหรือไม่ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ โดยกรณีที่เกิดขึ้นระหว่างโบอิ้งและรัฐบาลญี่ปุ่นนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของปัญหาที่เจ้าหน้าที่กองทัพต้องเผชิญในการขอให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลอะไหล่เชิงพาณิชย์อย่างตรงไปตรงมา
ด้านนางแอนน์ สเตเฟเน็ก โฆษกกองทัพอากาศสหรัฐได้ออกแถลงการณ์ว่า “กองทัพอากาศสหรัฐไม่สามารถสรุปได้ว่าสัญญามูลค่า 10 ล้านดอลลาร์นั้นเป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากขาดข้อมูลที่สนับสนุนการตั้งราคาดังกล่าว รวมถึงไม่สามารถวิเคราะห์ราคาโดยเปรียบเทียบกับอะไหล่เชิงพาณิชย์ได้”
นางสเตเฟเน็กยังเปิดเผยด้วยว่า กองทัพอากาศสหรัฐเป็นผู้บริหารการจัดหาอะไหล่สำหรับเครื่องบินเติมน้ำมันรุ่น KC-46 ของญี่ปุ่นทั้ง 4 ลำ รวมถึงการตรวจสอบว่าราคาต่างๆ นั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นนั้นเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายด้วยงบประมาณกลางของรัฐบาลเอง
ทั้งนี้ ตามกฎหมายสหรัฐ บริษัทต่างๆ ที่ทำสัญญากับหน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลของอะไหล่ประเภทสินค้าทางการทหาร แต่สำนักงานจเรทหารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐก็ได้มีการรายงานถึงกรณีเช่นนี้มากมาย ที่บริษัทต่างๆ ตั้งราคาอะไหล่เชิงพาณิชย์ที่ขายให้กับกองทัพสูงเกินควร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 64)
Tags: Boeing, กองทัพอากาศสหรัฐ, ญี่ปุ่น, สหรัฐ, อะไหล่เครื่องบิน, เครื่องบิน, แอนน์ สเตเฟเน็ก, โบอิ้ง