ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 2.5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.5% เนื่องจาก 1. การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.67) ขยายตัวสูงถึง 4.2% (YoY) หนุนโดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นตามรอบวัฎจักร และการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูป ที่ขยายตัวถึง 28.8% (YoY)
2.แนวโน้มการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั่วโลก ตลอดจนปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยกระดับขึ้น ส่งผลให้ราคาและความต้องการทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
3. แนวโน้มการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่ายังขยายตัวได้จากวัฏจักรที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยข้อมูลการส่งออกเกาหลีใต้ (20 วันแรกของเดือน ก.ย.67) ยังเติบโตได้ดี โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ ที่ขยายตัวได้ถึง 26.2% (YoY)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะเติบโตได้ต่ำกว่าในช่วง 8 เดือนแรก ตามทิศทางการค้าโลกที่ชะลอลง สะท้อนผ่านดัชนีค่าระวางเรือที่ปรับลดลงกว่า 30% ในรอบ 2 เดือน แม้ไตรมาสที่ 3 จะเป็นช่วง high season ของการค้าโลก รวมถึงยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตร
สำหรับการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท คาดว่าจะมีผลกระทบต่อสัดส่วนการทำกำไรของผู้ส่งออก (Margin) ในขณะที่ยอดคำสั่งซื้อยังขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงความยืดหยุ่นในการปรับราคาของแต่ละสินค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งมีระดับการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน
โดยผู้ส่งออกที่พึ่งพิงวัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก (Local Content) อาทิ สินค้าเกษตร หรืออาหารแปรรูป จะได้รับผลกระทบต่อรายรับมากกว่ากลุ่มผู้ใช้วัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก เนื่องจากไม่สามารถใช้กลไก Natural Hedge เพื่อบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 67)
Tags: ส่งออก