พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้แจงแนวทางการดำเนินการขอรับใบอนุญาตกิจการกระจายเสียงในระบบ FM สำหรับวิทยุทดลองออกอากาศที่ปัจจุบันมีอยู่ 3,720 สถานี (ชุมชน 151 สาธารณะ 555 และ ธุรกิจ 3,014 สถานี) ลดลงจากเดิม ณ วันที่ 1 เมษายน 2567 ที่มี 3,809 สถานี ซึ่งต้องยุติการทดลองออกอากาศหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2567
สำหรับแนวทางในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง ที่ผ่าน มติ กสทช. แล้ว สรุปดังนี้
1.จำนวนคลื่นความถี่ที่อนุมัติในแผนความถี่วิทยุหลังรับฟังความคิดเห็นมีจำนวนทั้งสิ้น 3,346 คลื่น ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ต้องไม่ก่อให้เกิดการรบกวนกับสถานีวิทยุหลักที่ได้รับอนุญาตแล้ว และต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 25% สำหรับภาคประชาชนและประโยชน์สาธารณะ ทำให้รองรับสถานีวิทยุกระจายเสียงประเภทชุมชนและสาธารณะได้ 854 สถานี เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 706 สถานี และรองรับสถานีประเภทธุรกิจได้ 2,492 สถานี ลดลงจากปัจจุบันที่มี 3,014 สถานี
2. คลื่นความถี่ที่นำมาอนุญาตในครั้งนี้เป็นระดับท้องถิ่น จึงกำหนดการใช้งานแต่ละคลื่นความถี่ในระดับอำเภอ โดยกำหนดกิจการที่ใช้งานชัดเจนว่าเป็นประเภทชุมชน สาธารณะ หรือ ธุรกิจ ดังนั้นผู้ประสงค์ทั้งรายเก่าและรายใหม่สามารถยื่นคำขอได้ตามประเภทและตามอำเภอที่กำหนดในตารางแผนความถี่วิทยุ โดยประเภทชุมชนและธุรกิจ กำหนดให้ 1 นิติบุคคล ต่อ 1 คลื่นความถี่ เพื่อไม่ต้องการให้มีนายทุนมาครอบงำ สำหรับประเภทสาธารณะกำหนดให้ 1 นิติบุคคล ได้หลายคลื่นความถี่ เพื่อให้เผยแพร่เนื้อหาที่เกิดประโยชน์ในภาพรวม
3. การพิจารณาอนุญาตประเภทชุมชนและสาธารณะใช้วิธีเปรียบเทียบคุณสมบัติ โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาประกอบด้วยข้อมูลกลุ่มคน/นิติบุคคล ความพร้อมทางด้านเทคนิค ด้านการบริหารจัดการ ผังและเนื้อหารายการ เป็นต้น สำหรับประเภทธุรกิจใช้วิธีประมูล โดยหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลจะมีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป แต่หากมีการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ มาตรา 41 วรรคสามที่บัญญัติให้ประเภทธุรกิจไม่ต้องใช้วิธีประมูลนี้ได้ทันภายในปีนี้ก็จะปรับเปลี่ยนวิธีให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
4. เมื่อมีประกาศเชิญชวนให้ยื่นคำขอแล้วก็สามารถยื่นขออนุญาตในความถี่ตามประกาศเชิญชวนนั้นได้ ทั้งรายเก่าและรายใหม่ หรือในกรณีที่คลื่นความถี่ไม่มีในแผนความถี่วิทยุหรือในประกาศเชิญชวน ก็สามารถยื่นได้ทั้งรายเก่าและรายใหม่เช่นกัน โดยสามารถยื่นคำขอการอนุญาตฯ ในคลื่นความถี่อื่นๆ ในอำเภออื่นหรือพื้นที่ใกล้เคียงแทน ซึ่งจะทำให้มีสิทธิออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในคลื่นความถี่ปัจจุบันตามเงื่อนไขการทดลองออกอากาศต่อไปได้ในระหว่างการพิจารณาคำขอดังกล่าว จนกว่า กสทช. จะสั่งไม่ออกใบอนุญาตในคลื่นความถี่ใหม่ที่ได้ยื่นคำขอฯ ไว้หรือจนกว่า กสทช. จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่หากผู้ทดลองออกอากาศเดิมไม่ยื่นคำขอฯ ในคลื่นความถี่ใดๆ จะต้องสิ้นสุดการทดลองออกอากาศ หลังวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ทันที
สำหรับแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับการอนุญาตนั้น ในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีการเชิญชวนให้ยื่นคำขอฯ สำหรับผู้ประสงค์ในสถานีวิทยุกระจายเสียงประเภทชุมชนและสาธารณะ จึงขอให้ผู้ต้องการยื่นคำขอฯ ได้ศึกษาหรือสอบถามเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามรวมทั้งเงื่อนไขในการขอรับอนุญาตให้เข้าใจตรงกันสามารถดำเนินการต่อได้ สำหรับเงื่อนไขการประมูลกรณีประเภทธุรกิจจะมีการรับฟังความคิดเห็นในเดือนสิงหาคมนี้เช่นกัน หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการเชิญชวนให้ยื่นคำขอฯ สำหรับประเภทธุรกิจ ต่อไป
“กสทช. จำเป็นต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดในปัจจุบัน ส่วนกรณีหากมีการแก้ไขกฎหมายนั้น กสทช. ไม่ขัดข้องพร้อมดำเนินการตามกฎหมายใหม่ อย่างไรก็ตามเพื่อให้กิจการกระจายเสียงสามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานีวิทยุประเภทชุมชนและประเภทสาธารณะที่จะได้รับการอนุญาตเพิ่มมากขึ้นอีก 148 สถานี ก็จะได้รับประโยชน์นอกเหนือจากการลดค่าธรรมเนียมลงจากเดิมแล้วจะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านการอบรมผู้บริหารสถานีให้มีความเป็นมืออาชีพรวมทั้งการสนับสนุนการผลิตเนื้อหารายการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ฟัง
ทั้งนี้ กสทช.จะมีการชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตในพื้นที่ภาคต่างๆ เพื่อให้มีความเข้าใจ เช่น ในวันที่ 9 สิงหาคม ที่จังหวัดอุบลราชธานี และมีแผนจะไปชี้แจงที่หาดใหญ่และเชียงรายทั้งออนไซต์และออนไลน์ต่อไป จึงขอให้ผู้ประกอบการกระจายเสียงรายเดิมรวมทั้งผู้ที่สนใจจะยื่นคำขอฯ รายใหม่ ได้ทำความเข้าใจและติดต่อสอบถามมาที่สำนักงาน กสทช. โดยตรง ขอได้โปรดอย่าไปหลงเชื่อคำชี้แจงจากกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างทำให้ท่านหลงเชื่อและเกิด Fake News แต่อย่างใด” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ค. 67)
Tags: กสทช., ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, วิทยุ