กสทช.เฮียริ่งประมูล 6 คลื่นรอบ 2 เพิ่มวิธีประมูล-ปรับลดราคาเริ่มต้น

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (สำนักงาน กสทช.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ต่อ (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz

นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.ด้านกิจการโรคมนาคม กล่าวว่า วันนี้ได้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม 6 ประเด็น เพื่อความรัดกุมเพิ่มขึ้นและเป็นประโยชน์ ได้แก่ รูปแบบการจัดกลุ่มและวิธีการประมูล ทั้งรูปแบบและวิธีการเดิมที่ที่ปรึกษาต่างประเทศเสนอและที่สำนักงาน กสทช. เสนอภายหลังการรับฟังคิดเห็นฯ ครั้งก่อน รวมถึงรูปแบบดั้งเดิมที่ประมูลทีละย่านความถี่ ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กสทช.ได้อธิบาย รูปแบบ วิธีการ และกระบวนการประมูลแต่ละขั้นตอนให้บุคคลทั่วไปเกิดความเข้าใจด้วย

ส่วนประเด็นราคา ได้แก่ การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ สำหรับวิธี Econometrics ให้ปรับปรุงแบบจำลองและแทนค่าตัวแปรให้สะท้อนบริบทของประเทศไทยยิ่งขึ้น และวิธีการ Relative value ให้พิจารณาเปรียบเทียบกับย่านที่ประมูลก่อนหน้านี้ประกอบด้วย

  • การกำหนดราคาขั้นต่ำ (Reserve Price) ให้คำนวณโดยใช้ปัจจัยตัวคูณ 1 เปรียบเทียบกับการใช้ปัจจัยตัวคุณ 0.7 โดยให้ใช้วิธีคำนวณใหม่ใช้ข้อมูลของประเทศไทยประกอบด้วย ราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลครั้งนี้ควรสอดคล้องกับราคาขั้นต่ำของการประมูลคลื่นที่ผ่านมาของประเทศไทย
  • การกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งเรื่องราคาและคุณภาพบริการ อัน เนื่องจากผู้ประกอบการลดลงทำให้ไม่มีการแข่งขัน รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับผู้ด้อยโอกาส
  • กรณีการจัดประมูลล่วงหน้าสำหรับคลื่นความถี่ที่จะหมดอายุในปี 2570 ที่อาจทำให้มูลค่าของคลื่นหายไป 2 ปี
  • การกำหนดจำนวนงวดและระยะเวลาการชำระเงินประมูล โดยให้เพิ่มเติมประเด็นการชำระเงินในสัดส่วนอัตราร้อยละ 10 เป็นระยะเวลา 10 งวด สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ โดยมีเงื่อนไขให้ต้องยื่น roll out plan ประกอบด้วย
*เสนอรูปแบบประมูลเพิ่ม

สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงานฯ ได้ปรับร่างหลักเกณฑ์ฯ ในส่วนของราคาเริ่มต้นประมูลบางชุดคลื่นความถี่ หลังจากมีเสียงจากภาคเอกชนว่าแพงเกินไปในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ขณะที่ในส่วนของบอร์ด กสทช.บางรายเห็นว่าเป็นราคาที่ถูกเกินไปและราคาตั้งต้นแต่ละคลื่นไม่ควรต่ำกว่าการประมูลในครั้งที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในการรับฟังความเห็นครั้งนี้ ได้เพิ่มรูปแบบที่จะให้ประมูลทุกกลุ่มย่านความถี่พร้อมกัน (Simultaneous Clock Auction) ซึ่งเป็นวิธีที่สำนักงาน กสทช. ปรับปรุงหลังจากการรับฟังความคิดเห็นครั้งแรก (เมื่อวันที่ 20 ม.ค.-20 ก.พ.68) หรือ ประมูลแบบเรียงลำดับทีละกลุ่มย่านความถี่ (Clock Auction – Each Group is Auctioned Sequentially) ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่เสนอในการรับฟังความคิดเห็นครั้งแรก

โดยได้เสนอในที่ประชุมรับฟังความเห็นถึงการจัดกลุ่มคลื่นความถี่ (ความสามารถในการทดแทนกันของคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz (FDD) และ 2300 MHz) แบ่งเป็น 2 รูปแบบ

1. แบ่งคลื่นความถี่ที่นำมาประมูลเป็น 3 กลุ่ม โดยพิจารณาจากมิติด้านวิศวกรรมและมิติด้านการทดแทน ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 ย่าน 850 MHz ย่าน 1800 MHz 2100 MHz (FDD)
  • กลุ่มที่ 2 ย่าน 1500 MHz ย่าน 2100 MHz (TDD) ย่าน 2300 MHz
  • กลุ่มที่ 3 ย่าน 26 GHz

2.แบ่งคลื่นความถี่ที่นำมาประมูลเป็น 4 กลุ่ม โดยพิจารณาความพร้อมของ Ecosystem และมิติด้านการทดแทน ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 ย่าน 850 MHz
  • กลุ่มที่ 2 ย่าน 1800 MHZ 2100 MHz (FDD) และ 2300 MHz
  • กลุ่มที่ 3 ย่าน 1500 MHZ 2100 MHz (TDD)
  • กลุ่มที่ 4 ย่าน 26 GHz

หากทางเลือกในการนำคลื่นความถี่มาประมูลเป็นเฉพาะคลื่นความถี่ที่กำลังจะสิ้นสุดการอนุญาตในวันที่ 3 ส.ค.68 จะมีเพียงคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz (FDD ขนาด 2×15 MHz) และ 2300 MHz ที่นำมาจัดกลุ่ม ทั้งนี้ วิธีการประมูลแต่ละแบบสามารถเปรียบเทียบกันได้

*ราคาเริ่มต้นปรับลง

สำหรับประเด็นราคาเริ่มต้นในการประมูล ราคาเดิมที่ผ่านการรับฟังความเห็น ได้แก่

  • คลื่น 850 MHz อยู่ที่ 7,739.04 ล้านบาท
  • คลื่น 1500 MHz อยู่ที่ 1,057.49 ล้านบาท
  • คลื่น 1800 MHz อยู่ที่ 7,282.15 ล้านบาท
  • คลื่น 2100 MHz (FDD) ที่ 3,970.32 ล้านบาท
  • คลื่น 2100 MHz (TDD) อยู่ที่ 580.99 ล้านบาท
  • คลื่น 2300 MHz อยู่ที่ 1,961.08 ล้านบาท
  • คลื่น 26 GHz ประเมินไว้เพียง 423 ล้านบาท

โดย ราคาเริ่มต้นที่ สำนักงาน กสทช. เสนอเพิ่มเติม 3 ราคา ได้โดยราคาเริ่มต้นที่มีการปรับเปลี่ยน

  • คลื่น 850 MHz ทั้ง 3 แนวทางใหม่ ราคาอยู่ที่ 7,358.60 ล้านบาท ลดลง 380.44 ล้านบาท
  • คลื่น 1500 MHz ทั้ง 3 แนวทางใหม่ราคาอยู่ที่ 969.03 ล้านบาท ลดลง 88.46 ล้านบาท
  • คลื่น 1800 MHz เสนอ 3 ราคา ราคาใหม่ แนวทางใหม่ที่ 1 อยู่ที่ 4,793.19 ล้านบาท ลดลง 2,488.96 ล้านบาท ส่วนแนวทางใหม่ที่ 2 อยู่ที่ 3,617.37 ล้านบาท ลดลง 3,664.78 ล้านบาท และแนวทางใหม่ที่ 3 อยู่ที่ 12,418.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,135.91 ล้านบาท
  • คลื่น 2100 MHz (FDD) แนวทางใหม่ที่ 1 อยู่ที่ 3,322.82 ล้านบาท ลดลง 647.50 ล้านบาท แนวทางใหม่ที่ 2 อยู่ที่ 3,180.67 ล้านบาท ลดลง 789.65 ล้านบาท และแนวทางใหม่ที่ 3 อยู่ที่ 4,611.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 641.1 ล้านบาท
  • คลื่น 2100 MHz (TDD) ราคาเดิมอยู่ที่ 580.99 ล้านบาท ซึ่งราคาทั้ง 3 แนวทางเท่ากัน อยู่ที่ 449.04 ล้านบาท ลดลง 131.95 ล้านบาท
  • คลื่น 2300 MHz ราคาเดิมอยู่ที่ 1,961.08 ล้านบาท แนวทางใหม่ที่ 1 อยู่ที่ 1,871.16 ล้านบาท ลดลง 89.92 ล้านบาท แนวทางที่ 2 และ 3 อยู่ที่ 1,541.33 ล้านบาท ลดลง 419.75 ล้านบาท

ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ยังคงราคาเดิมที่ 423 ล้านบาท

*ที่ประชุมเสียงแตก

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ สภาองค์กรผู้บริโภค ขอให้มีการประมูลคลื่นที่กำลังจะหมดใบอนุญาตก่อน หาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) หมดอายุใบอนุญาตจะกระทบกับผู้ใช้งาน เราไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องประมูลเร่งด่วนในเวลานี้ รวมถึง ยังไม่จำเป็นต้องประมูลคลื่น 3500 MHz ที่จะกระทบกับทีวีดิจิทัล และ กสทช.ควรให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายเล็ก NVNO เพื่อความเป็นธรรมให้รายใหม่เข้าสูตลาด การประมูลทีละคลื่นน่าจะทำให้ กสทช.มีเวลาออกแบบในการจัดประมูลและกำหนดแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้พิการ และผู้ที่อยู่ห่างไกล

นายไพโรจน์ ไววานิชย์กิจ จากบริษัท เดอะเมกกะวัตต์ จำกัด กล่าวว่า ความเห็นทางเศรษฐศาสตร์ สมควรประมูลแบบรวม เพราะไม่ว่าใครประมูลได้คลื่นเท่าใด เมื่อดูจากภาพรวมการประมูลครั้งนี้จะเอื้อต่อการว่างแผนคลื่นความถี่ในอนาคต , ในแง่ผลประโยชน์ของประเทศ หากมีการประมูลคลื่นที่กำหนดไว้ในครั้งนี้จะช่วยไม่ให้เกิดมีปัญหาไทม์ไลน์ที่ไม่เข้ากันอีก โดยควรกำหนดให้ระยะเวลาใบอนุญาตของคลื่นความถี่ที่จะสิ้นสุดเวลาอนุญาตที่จะเอามาประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 17 ปี สิ้นสุดปี 85 ส่วนที่เหลือ 3 คลื่น กำหนดอายุใบอนุญาตที่ 15 ปี วิธีนี้น่าจะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และได้ผลประโยชน์กลับมากับประเทศชาติอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ส่วนระดับราคาเริ่มต้น ราคาที่กำหนดน่าจะดีที่สุดที่จะแข่งขัน และสมควรที่จะเอาคลื่น 3500 MHz มาประมูลในครั้งนี้ เอามาเฉพาะแค่สล็อดล่าสุด

นายชูชาติ เตชะโพธิวรคุณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความเห็นเรื่องการจะแยกหรือรวม เห็นว่าควรจัดประมูลรวมไปในคราวเดียวกัน มูลค่าคลื่นเกิดจากการเอาคลื่นมาใช้เกิดแป็นม็ดเงิน การแยกคลื่นออกประมูลสองรอบทำให้เกิดผลกระทบการคาดการณ์และความกังวลของผู้ประมูล การแยกประมูลจะทำให้เกิดความเสี่ยงกับสาธารณะประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้ายึดเอาวิธีทางเศรษฐศาสตร์เป็นตัวตั้งการรวมประมูลจะทำให้เกิดการแข่งขัน ลดรายจ่ายเพิ่ม ไม่เสียเวลาในการดำเนินการ

การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.ฯ นี้ ได้จัดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ข้างต้น ซึ่งสามารถนำส่งแบบแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.-4 เม.ย.68 ในเวลา 16.30 น.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 68)

Tags: , ,