สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 (63 – 68) (ฉบับปรับปรุง)
แผนแม่บทฯ ที่ได้ปรับปรุงใหม่นี้ กรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันได้เห็นความสำคัญต่อบริบทดิจิทัลที่มีอิทธิพลต่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมทั้งประสงค์ให้กิจการดังกล่าวก้าวสู่ระดับสากลทั้งในส่วนของการอนุญาตและการกำกับดูแลที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตเนื้อหาที่มุ่งสู่ตลาดต่างประเทศ ตลอดจนป้องกันมิให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ภายใต้หลักการประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึง รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ยกระดับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์สู่มาตรฐานสากล เพื่อสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจให้ยั่งยืน
โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เข้าสู่มาตรฐานสากล มีพลวัตสอดคล้องกับบริบทดิจิทัล รวมทั้ง การส่งเสริมและกำกับดูแลด้านเนื้อหา การคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เพื่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการให้บริการและกำกับดูแลที่มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัล ทั้งนี้ในแต่ละยุทธศาสตร์จะมีเป้าหมายและตัวชี้วัดตลอดจนกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน
“สำหรับกิจการกระจายเสียงนั้น หลังจากที่ผมได้รับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการกระจายเสียงทั้ง 4 ภาค แล้ว
ด้วยการศึกษาระบบนิเวศการอนุญาตในระบบดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม แทนการทดลองทดสอบทางด้านเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อให้รองรับความต้องการของผู้ประกอบกิจการ และสามารถเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบบการอนุญาตทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และชุมชน ตามที่กฎหมายบัญญัติได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้เพื่อให้กิจการกระจายเสียงของประเทศไทยยังคงมีความก้าวหน้า ดำรงอยู่ต่อไปได้ภายใต้บริบทของเทคโนโลยีปัจจุบัน” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง กล่าว
ด้านนางพิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ในแผนฉบับนี้ นำเสนอยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย การพัฒนากิจการโทรทัศน์ให้เข้าสู่มาตรฐานสากลสอดคล้องกับบริบทดิจิทัล ซึ่งในด้านนี้เราอยู่ระหว่างเตรียมการศึกษาวิจัยเพื่อแสวงหาฉากทัศน์ (scenario) ที่เหมาะสมสำหรับอนาคต มีการทบทวนปรับปรุงกฎระเบียบการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันข้ามแพลตฟอร์ม การศึกษาแนวทางและกลไกการกำกับดูแลแพลตฟอร์มผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ให้สามารถผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ แข่งขันได้ในตลาดสากล เรามีแผนที่จะส่งเสริมและขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเนื้อหาที่เทียบเคียงระดับสากลของผู้ผลิตโทรทัศน์ เช่น co-production การสร้างแรงจูงใจ หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติเพื่อกระตุ้นการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ
“สำหรับยุทธศาสตร์ด้านเนื้อหาก็ไม่ใช่เพียงกำกับดูแล แต่จะเน้นการส่งเสริมศักยภาพ สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน เรามีแนวทางที่จะพัฒนาระบบ social credit เพื่อส่งเสริมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมควบคู่กับการตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นปัญหา ตัวอย่างแนวทางส่งเสริมการพัฒนาเนื้อหารายการของปีนี้ เราอยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 คาดว่าช่วงปลายปีน่าจะสามารถเปิดรับโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนโดยจะเน้น 3 กลุ่มคือ กลุ่มรายการสำหรับเด็กและเยาวชน กลุ่มรายการที่ส่งเสริมความหลากหลายในสังคม และกลุ่มรายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับต่างประเทศซึ่งจะเป็นแถวหน้าในการพัฒนาศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการไทยไปอีกขั้นและจะได้เป็นการส่งเสริมการส่งออกเนื้อหาสื่อของไทยไปสู่ระดับสากล” กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2563 – 2568) (ฉบับปรับปรุง) ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nbtc.go.th/News/publichearing/59366.aspx?lang=th-th
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 66)
Tags: กสทช., ยุคดิจิทัล, วิทยุ, แพลตฟอร์ม, โทรคมนาคมแห่งชาติ, โทรทัศน์