นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตร ระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่า จากการที่เกษตรกรต้องประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่ผ่านมา ภาครัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระทางด้านงบประมาณ และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพของเกษตรกร ภาครัฐจึงได้เร่งพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตร ให้เป็นกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ และความเสี่ยงในรูปแบบอื่นๆ และได้กำหนดให้การประกันภัยการเกษตรเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ ของการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนในระยะยาว จึงเป็นที่มาของการพัฒนาระบบการประกันภัยสินค้าเกษตรที่เหมาะสม และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำการเกษตรได้ในทุกๆ มิติ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในที่สุด
สำหรับการร่วมมือกันของทั้ง 2 หน่วยงาน จะเป็นการนำความรู้ ความชำนาญ และความเชี่ยวชาญมาสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตร ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นและโอกาสที่ดีที่จะร่วมกันในการพัฒนาระบบประกันภัยสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมถึงพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ป่าไม้ และบริการทางการเกษตร
โดยจะมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ที่จะสามารถตอบโจทย์และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้การประกันภัยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำการเกษตร ถือเป็นการต่อยอดนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะ “สร้าง เสริม ยก” หมายถึง สร้างความเข้มแข็ง เสริมภูมิคุ้มกัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“สิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือภัยธรรมชาติ และที่สำคัญคือโควิด-19 ซึ่งจากการที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการชดเชย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ยืนยันว่าไม่ใช่ภาระของรัฐบาล แต่เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องดูแล แต่ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายนี้ลดน้อยให้มากที่สุด ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นทางเลือกใหม่ ที่มีมาตรฐานและสามารถสร้างประโยชน์ และความมั่นใจให้กับพี่น้องเกษตรกร เพราะจะทำให้เกษตรกรมีความตื่นตัวในการพัฒนาตัวเอง และสร้างความเข้มแข็งด้วยตัวเอง และรัฐบาลยังสามารถนำเม็ดเงินไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นได้อีกด้วย” นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้านนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สศก. มีความประสงค์ที่จะขยายขอบเขตของการประกันภัยในปัจจุบันไปสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ ดูแล และคุ้มครองพี่น้องเกษตรกรไทย นอกเหนือจากข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจ พืชรอง หรือสินค้าเกษตรที่มีอนาคตทางการตลาดสูงรวมถึงต่อยอดกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าเกษตร ที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ได้แก่ ทุเรียน ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ต้นไม้ โคเนื้อ และโคนม รวมไปถึงกัญชาในอนาคต
ทั้งนี้ สศก. จะร่วมกับ คปภ. ดำเนินการภายใต้ “คณะกรรมการความร่วมมือพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตร” เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางในการดำเนินการ สร้างทีมงานร่วมมือทางด้านวิชาการ คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ๆ โดยศึกษาข้อมูลอย่างครอบคลุม ครบทุกมิติความเสี่ยง ทั้งความผันผวนของปริมาณผลผลิต ราคา ตลาด และความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการคุ้มครองความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ หันมาใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทางการเงินของตนเอง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 64)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ประกันภัยการเกษตร, สศก., เฉลิมชัย ศรีอ่อน