กวดขันเข้มโครงการก่อสร้างถนนทุกสายในกทม.ต้องปลอดภัย-ระบายน้ำสะดวก

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการดูแลสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ จากเหตุการณ์รถยนต์ตกคูน้ำที่กำลังมีการก่อสร้างเมื่อวันศุกร์ที่ 21 ก.ค.ว่า ถนนในกรุงเทพฯ หลายสาย อยู่ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง (ทล.) เช่น แจ้งวัฒนะ รามอินทรา สุวินทวงศ์ วิภาวดีรังสิต พระราม 2 ซึ่งกรณีดังกล่าว กำลังมีการก่อสร้างคูน้ำที่ถนนวิภาวดี และเมื่อเกิดน้ำท่วมขังในระดับเดียวกับคูน้ำที่กำลังก่อสร้าง ทำให้ไม่สามารถมองเห็นแนวคูน้ำได้

“จากการไปดูจุดเกิดเหตุที่ซอยวิภาวดี 28 พบว่าเป็นจุดเลี้ยวไม่มีแบริเออร์ (barrier) กั้นบอกแนว เมื่อน้ำท่วมเสมอกัน ทำให้คนขับรถมองไม่เห็นแนวคูน้ำ จึงต้องกำชับให้ดูทุกจุด ทั้งสองฝั่งตั้งแต่ลาดพร้าวไปถึงดินแดง” นายชัชชาติ กล่าว

พร้อมระบุว่า มีหลายจุดที่เป็นพื้นที่เอกชน เป็นทางเข้าบริษัทต่าง ๆ ไม่มีแบริเออร์กั้น จึงได้แจ้งให้ผู้รับเหมามาดำเนินการติดตั้ง โดยขออนุญาตเอกชนก่อน เพราะเป็นถนนส่วนบุคคล เน้นจุดที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมมากและสังเกตได้ยากหากเกิดน้ำท่วม รวมทั้งมีการติดไฟแจ้งเตือนเพิ่มเติม

“บางที เรารู้สึกว่าถนนกรมทางหลวง เหมือนอยู่นอกความรับผิดชอบของกทม. แต่เราก็เหมือนเป็นเจ้าของบ้าน ที่ต้องทำหน้าที่เป็นคนตรวจให้กับประชาชน เพราะจริง ๆ แล้ว กทม.ต้องดูทุกพื้นที่อยู่แล้ว สำนักการโยธา และฝ่ายโยธาเขตต่าง ๆ คงต้องทำหน้าที่เชิงรุกให้มากขึ้น อาจจะมีคนหาว่าล้อมคอก แต่ก็ต้องพยายามทำเพื่อให้ปลอดภัยมากขึ้น” นายชัชชาติ ย้ำ

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า ในเรื่องบริหารจัดการน้ำนั้น ทุกฝ่ายทำเต็มที่ แต่สิ่งที่ยังต้องปรับปรุง คือ การดูแลประชาชนในช่วงที่ฝนตกน้ำท่วมตอนกลางคืน ซึ่งได้สั่งการไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการระบายน้ำ ให้ออกมาดูแลประชาชนด้วย เช่น เทศกิจที่คอยดูแลการจราจร กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ซึ่งมีหน่วยซ่อมรถ ต้องออกมาประจำจุดที่น้ำท่วมหนัก ดูแลรถเสีย หรือรถเทศกิจ รถกระบะที่ใช้รับคน ต้องออกมาดูแล เพราะประชาชนหลายคนยังกลับบ้านไม่ได้ อาจจะไม่มีรถแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ต้องออกมาเสริมตรงนี้ด้วย เพื่อให้ประชาชนกลับบ้านให้ได้

“ส่วนสภาพฝน ในช่วงนี้ยังมีความเสี่ยง เพราะมีร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่ และเป็นฝนที่เคลื่อนตัวช้า…ในการจัดการถือว่าทำได้ดี เพราะน้ำลงค่อนข้างเร็ว ซึ่ง กทม.ทำงานหนักทุกคน แต่ตอนนี้อาจจะมีติดอยู่ในชุมชนย่อย ๆ และต้องระวังฝนต่อไป ข้อดีอย่างหนึ่ง คือระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่สูงมาก” นายชัชชาติ กล่าว

ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า กทม.ได้ประสานงานกับกรมทางหลวงมาตลอด ในเรื่องความปลอดภัยและเร่งรัดการก่อสร้าง และเข้มงวดเรื่องการก่อสร้างที่มีผลกระทบต่อการจราจร และการระบายน้ำ ซึ่งมีการพูดคุยกำชับกันมาตลอดในเส้นทางวิภาวดีว่าระหว่างการก่อสร้างที่มีการบล็อกน้ำ ผู้รับเหมาจะต้องมีการบายพาสโดยการใช้เครื่องสูบน้ำช่วย

ขณะเดียวกัน จะต้องดูกองวัสดุก่อสร้างไม่ให้กองริมทาง เนื่องจากเมื่อฝนตก น้ำจะชะเอากองวัสดุลงไปอุดตันท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำไหลได้ช้า จึงต้องย้ำนโยบายคือไม่ให้กองวัสดุในพื้นที่สาธารณะ ต้องมีที่เก็บต่างหาก ไม่เช่นนั้นจะเกิดกรณีเมื่อคืนวันเสาร์ที่น้ำระบายได้ช้า เนื่องจากเศษหินดินทรายที่ไปอุดตัน

นอกจากนี้ อีกปัญหาหนึ่งของการเกิดน้ำท่วม คือ ขยะอุดตัน จากการได้พูดคุยกับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่หน้างาน รถขยะกทม.จะเก็บขยะประมาณตี 1 หากมีฝนตกก่อนเวลาที่รถจะมาเก็บ จะทำให้ขยะที่วางรอไว้โดนฝนชะไปกีดขวางการระบายน้ำ ดังนั้นในช่วงหน้าฝนนี้จึงต้องช่วยกันดูแลและขอความร่วมมือประชาชนพยายามนำขยะไว้ในบ้านก่อน จนใกล้ ๆ ถึงเวลาจัดเก็บแล้วจึงน้ำมาวางไว้ที่จุดรวม ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้จัดทำคอกเขียวเป็นที่รวบรวมขยะก่อนเจ้าหน้าที่จะมาเก็บ แต่ยังไม่เพียงพอ จึงมีถังขยะไปเพิ่มอีกประมาณ 10,000 ใบ ตามพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ค. 66)

Tags: , ,