นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เปิดเผยว่า จากกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กำลังสร้างความเดือดร้อนอย่างหนักให้แก่ประชาชนคนไทยในขณะนี้ กลุ่มทรู โดยทรูมูฟ เอช มีความห่วงใย และต้องการร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน จึงเดินหน้าผนึกกำลังศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมยกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้เป็นไปแบบครบวงจร โดยเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียน โทร. 9777 สำหรับลูกค้าทรูมูฟ เอช ให้ติดต่อโทรฟรีแจ้งข้อมูลเบอร์โทรเข้าที่ต้องสงสัยและ SMS หลอกลวง รองรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะมีทีมงานเชี่ยวชาญตรวจสอบ คัดกรองข้อมูลอย่างแม่นยำ และแจ้งกลับเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ลูกค้าภายใน 72 ชั่วโมง
พร้อมดำเนินการบล็อกเบอร์โทรและ SMS นั้นในระบบทันทีที่พบและยืนยันแน่ชัดว่าเป็นหมายเลขและ SMS จากกลุ่มคอลเซ็นเตอร์มิจฉาชีพจริง และส่งต่อข้อมูลหมายเลขดังกล่าวไปยังกสทช. และ ศปอส.ตร. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการป้องกันและจัดการกับมิจฉาชีพตามกฎหมายได้ทันท่วงที รวมทั้งยังเปิดช่องทางรับเรื่องตรวจสอบหมายเลขต้องสงสัยผ่าน “มะลิ AI” บนแพลตฟอร์มทรูไอเซอร์วิส และต่อยอดความร่วมมือกับ “Whoscall” แอปพลิเคชันเช็คเบอร์แปลกแจ้งเตือนก่อนรับสาย เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ดำเนินการขึ้นเตือน เติมเต็มภารกิจสร้างเกราะคุ้มกันภัยทางออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตอกย้ำความมุ่งมั่นส่งมอบบริการอันเป็นเลิศเพื่อลูกค้าคนสำคัญให้ปลอดภัย มั่นใจในทุกการสื่อสาร
“กลุ่มทรู ตระหนักถึงภัยอาชญากรรมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากและมีกลโกงหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความรำคาญและสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ที่หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยทรูมูฟ เอช ห่วงใยลูกค้า อยากให้มีความปลอดภัยและมั่นใจในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น”
พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ ศูนย์ PCT เดินหน้าขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมผสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการปราบปรามจับกุมผู้ก่ออาชญากรรมออนไลน์และดำเนินโครงการเชิงรุกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนรู้ทันกลโกงของกลุ่มมิจฉาชีพ
ซึ่งความร่วมมือกับ ทรูมูฟ เอช และ กสทช. ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมการทำงานของศูนย์ฯ ให้รู้และเข้าถึงกลุ่มมิจฉาชีพได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น สามารถยับยั้งได้อย่างทันท่วงที และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนผู้ใช้บริการทรูมูฟ เอช เพื่อทำการติดตาม ตรวจสอบ สืบหาต้นตอ และเข้ากวาดล้างจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพให้ได้รับโทษตามกฎหมายในที่สุด มั่นใจว่าจะช่วยบรรเทาทุกข์ของประชาชน ตลอดจนช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดจากการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. เร่งศึกษาและคุมเข้มในการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และมิจฉาชีพที่ใช้ช่องทางออนไลน์ โทร และ SMS หลอกลวงประชาชน โดยได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อหามาตรการป้องกัน แก้ไข ตลอดจนแจ้งเตือนและให้ความรู้แก่ประชาชนไม่ให้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ได้รับความร่วมมือจาก ทรูมูฟ เอช ในการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งจากในและต่างประเทศ ส่งข้อมูลและบล็อกเบอร์ต้องสงสัยเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์
และในครั้งนี้ ทรูมูฟ เอช ได้ริเริ่มเปิด Hotline 9777 รับเรื่องร้องเรียนเบอร์โทรมิจฉาชีพและ SMS หลอกลวง ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าทรูมูฟ เอช ในการแจ้งข้อมูลเบอร์ต้องสงสัยให้ตรวจสอบ ทั้งยังเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ PCT เพื่อนำไปสู่การสืบค้นและจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องปรามกลุ่มมิจฉาชีพและเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในวงกว้าง นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด เพื่อร่วมกันกวาดล้างกลุ่มมิจฉาชีพให้ลดน้อยและหมดไปได้ในที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 เม.ย. 65)
Tags: TRUE, กสทช., ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์, ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์, ทรู คอร์ปอเรชั่น, ทรูมูฟ เอช, แก๊งคอลเซ็นเตอร์, ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล