หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังคงผันผวน โดยเปิดตลาดมาช่วงเช้าปรับลงก่อนจะดีดขึ้นมาบวกเล็กน้อย และยังมีวอลุ่มการซื้อขายเบาบาง เมื่อเทียบกับหุ้นธนาคารพาณิชย์ในตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีแรงซื้อกลับขึ้นมาค่อนข้างมากหลังจากลงไปแรงเนื่องจากวิกฤติภาคธนาคารในต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย
เมื่อเวลา 10.49 น. หุ้น 3 แบงก์ใหญ่ นำโดย
- KBANK ลดลง 1.14% หรือลบ 1.50 บาท มาที่ 130.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 970.44 ล้านบาท
- BBL บวก 0.33% หรือเพิ่มขึ้น 152.00 บาท มาที่ 152.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 239.808 ล้านบาท
- SCB ราคาไม่เปลี่ยนแปลงที่ 102.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 514.83 ล้านบาท
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ไทย โดยเฉพาะ KBANK BBL SCB ซึ่งถือเป็นธนาคารขนาดใหญ่ ปัจจุบันยังไม่เห็นแรงซื้อกลับเข้ามามากเหมือนกับหุ้นแบงก์ในต่างประเทศ มองไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากหุ้นธนาคารในต่างประทศปรับลงไปรุนแรงกว่าหุ้นแบงก์บ้านเรา ทำให้เมื่อปัญหาคลี่คลายลงก็มีแรงซื้อกลับเข้ามามากเป็นเรื่องปกติ
ขณะที่นักลงทุนก็ยังมีความกังวลผลกระทบข้างเคียง จากการที่แบงก์เข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ (Bond) หลังเกิดเหตุการณ์ตัดมูลค่าตราสารทางการเงินที่นับเป็นกองทุนสำรองส่วนเพิ่มชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) หรือ AT1 ของเครดิต สวิส เหลือศูนย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการเทกโอเวอร์กิจการโดยธนาคารยูบีเอส ทำให้ตลาดมีความระมัดระวังในการเข้าลงทุนกลุ่มแบงก์มากขึ้น และยังไม่เห็นข้อมูลดังกล่าวของแบงก์ไทยชัดเจนออกมา
อย่างไรก็ตาม ตลาดน่าจะกลับมารอดูผลประกอบการไตรมาส 1/66 ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวมากน้อยเพียงใด รวมถึงการให้ข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป หากไม่มีปัจจัยลบ อาจเห็นการฟื้นตัวขึ้นได้
นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้หุ้นกลุ่มแบงก์เล่นบนทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ในวันนี้จะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยตลาดคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% หากผลการประชุมเฟดออกมาตามคาด หรือออกมาว่าตรึงอัตราดอกเบี้ย ภาพการลงทุนจะเปลี่ยนไปทันที เนื่องจากคาดการณ์ได้ว่าดอกเบี้ยขาขึ้นได้ถึงจุดพีคแล้ว และเริ่มเปลี่ยนเป็นขาลงอย่างชัดเจน
ดังนั้น แนะเลี่ยงลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไปก่อน เนื่องจากยังเผชิญความไม่แน่นอนจากหลายๆ ปัจจัย
ด้านบล.เคจีไอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มองความกังวลเกี่ยวกับ AT1 ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินในการเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารในยุโรปไม่น่าจะกระทบกับธนาคารไทยที่ออกขายตราสารประเภทนี้ในตลาดโลก ทั้งนี้ KBANK BBL KTB และ TTB ได้ออก AT1 เพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 ประมาณ 1%
อย่างไรก็ตาม แม้จะตัด AT1 ออกจากเงินกองทุนขั้นที่ 1 แต่แค่ CET1 ของธนาคารทุกแห่งก็ยังแข็งแกร่งที่ >15% (สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 8% อย่างมาก) ซึ่งถือเป็นระดับที่ปลอดภัย และมั่นคงมาก
AT1 มองเป็นประเด็นเฉพาะของบางธนาคาร โดย AT1 เป็นตราสารที่มีลักษณะคล้าย ๆ perpetual bond บวกกับ contingent convertible สามารถนับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ตามกรอบ Basel III ดังนั้น AT1 จึงเป็นที่รู้จักกันในนามของพันธบัตร coco bond
ทั้งนี้ AT-1 ต่างจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิ โดย AT-1 ออกโดยพ่วงเงื่อนไขของการแปลงสภาพ/การลงทุน (contingent convertible) อย่างเช่น การแปลงหนี้เป็นทุน (บางส่วนหรือทั้งหมด), การลดทุน (capital write-down) เมื่อเงินกองทุนขั้นที่ 1 หรือสถานะของผู้ออกลดลงมาจนถึงระดับหนึ่ง โดยในกรณีของ Credit Suisse นั้น AT1 มี contingent ของการลดทุนสำหรับผู้ถือพันธบัตร
ตลาด AT1 มีขนาด 2.54 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในยุโรป มีการออก AT1 อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันมีผู้ออก 100 ราย และมีพันธบัตรประเภทนี้ประมาณ 245 รุ่น ซึ่ง 97% ของผู้ออก AT1 เป็นธนาคาร ส่วนอีก 3% เป็นบริษัทประกัน ทั้งนี้ ตลาด AT1 มีมูลค่าคร่าว ๆ ประมาณ 2.54 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรสกุล USD แม้ว่าส่วนใหญ่จะออกโดยสถาบันการเงินในยุโรป
ธนาคารใหญ่ของไทยออก AT1 ด้วยเช่นกัน BBL KBANK KTB และ TTB มีการออก AT1 เพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 โดยในส่วนของ KBANK ออก AT1 มูลค่า 850 ล้านดอลลาร์ อัตราดอกเบี้ย (coupon) 4% และ 5.275% โดยได้เรตติ้ง Ba2 จาก Moody’s
ส่วน BBL ออก AT1 มูลค่า 750ล้านดอลลาร์ฯ อัตราผลตอบแทน (yield) 5% และมีเงื่อนไขพิเศษคือการร่วมรับผลขาดทุน หรือ “loss absorption” โดยจะมีการ write-down การลงทุนเมื่อเงินกองทุนขั้นที่ 1 ลดลงต่ำกว่า 5.15% ซึ่งเงื่อนไข loss absorption นี้ทำให้ตราสารนี้ของ BBL ได้เรตติ้งเพียง Ba1 (ต่ำกว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิ 2 ขั้น) จาก Moody’s
ในขณะเดียวกัน KTB ออก AT1 มูลค่า 600 ล้านดอลลาร์ฯ และ TTB ออก AT1 มูลค่าประมาณ 245 ล้านดอลลาร์ฯ
ถึงแม้ว่าธนาคารต่าง ๆ จะออก AT1 มาเพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 แต่ AT1 คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคาร ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายธนาคาร AT1 ของ KBANK และ KTB คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1% ของเงินกองทุนขั้นที่ 1 ในขณะที่ของ BBL คิดเป็น 0.85% ส่วนของ TTB คิดเป็น 0.6% อย่างไรก็ตาม แม้จะตัด AT1 ออกจากเงินกองทุนขั้นที่ 1 แต่แค่ CET1 ของธนาคารทุกแห่งก็ยังแข็งแกร่งที่ >15% (สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 8% อย่างมาก)
CAR in major banks
BBL | KBANK | KTB | TTB | |
Tier I | 15.67% | 16.84% | 16.69% | 16.30% |
– CET1 | 14.88% | 15.84% | 15.74% | 15.67% |
Tier II | 3.46% | 1.97% | 3.11% | 3.65% |
– CAR | 19.13% | 18.81% | 19.80% | 19.95% |
AT1 count in Tier I | 0.85% | 0.97% | 0.95% | 0.60% |
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 66)
Tags: AT1, BBL, KBANK, SCB, กิจพณ ไพรไพศาลกิจ, ยูโอบี เคย์เฮียน, หุ้นธนาคาร, หุ้นแบงก์, หุ้นไทย