กลุ่มผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ในญี่ปุ่นกำลังผลักดันให้วัฒนธรรมการแช่บ่อน้ำพุร้อน (ออนเซ็น) ของญี่ปุ่นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของยูเนสโกภายในปี 2571 เพื่อให้มีการยอมรับถึงความสำคัญของประเพณีการแช่น้ำร้อนตามธรรมชาติที่สืบทอดมายาวนานหลายศตวรรษ
“ผมเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมออนเซ็นมีคุณค่าเทียบเท่ากับ” การทำสาเกและโชชูแบบดั้งเดิม ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ชินจิ ฮิไร ผู้ว่าราชการจังหวัดทตโตริและหัวหน้ากลุ่มผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวในช่วงเริ่มต้นของการประชุมออนไลน์ที่จัดขึ้นในเดือนเดียวกัน เพื่อหารือเกี่ยวกับการผลักดันให้ออนเซ็นได้รับการขึ้นทะเบียน
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า กลุ่มผู้ว่าราชการ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพ.ย. 2565 และมีตัวแทนจาก 44 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัดในญี่ปุ่น ได้นิยามวัฒนธรรมออนเซ็นว่าเป็น “วิถีชีวิต” ที่ชาวญี่ปุ่นมีร่วมกันอย่างแพร่หลาย น้ำแร่ที่พบได้ในกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศเป็น “ของขวัญจากธรรมชาติที่ช่วยเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ”
นอกจากนี้ กลุ่มยังมีแผนจะรวบรวมผลสำรวจสถานการณ์ปัจจุบันของบ่อน้ำพุร้อนทั่วประเทศภายในเดือนมี.ค. รวมถึงความจำเป็นในการปกป้องในฐานะมรดกทางวัฒนธรรม หลังจากนั้นจะเรียกร้องให้รัฐบาลของชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น สนับสนุนโครงการนี้ โดยมีความหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูบ่อน้ำพุร้อนในพื้นที่ต่าง ๆ
ทั้งนี้ ความพยายามที่จะขึ้นทะเบียนออนเซ็นในฐานะมรดกโลกได้รับแรงผลักดันเพิ่มขึ้น หลังจากวัฒนธรรมซาวน่าของฟินแลนด์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในปี 2563 โดยคณะกรรมการยูเนสโกระบุว่าวัฒนธรรมดังกล่าวเป็น “ส่วนสำคัญของชีวิตประชากรส่วนใหญ่ในฟินแลนด์”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ม.ค. 68)
Tags: ญี่ปุ่น, มรดกโลก, ออนเซ็น