กรุงเทพโพลล์โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ชีวิตความเป็นอยู่คนไทยวันนี้ กับสถานการณ์ข้าวของราคาแพง” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,033 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 43.1 เห็นว่าจากสถานการณ์ข้าวของราคาแพง ทำให้สถานะทางการเงินพอดีกับค่าใช้จ่ายไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม ขณะที่ร้อยละ 39.0 ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม ส่วนร้อยละ 17.9 ยังเพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บออม
เมื่อถามว่าจากผลกระทบข้าวของราคาแพง มีผลต่อการใช้จ่าย การดำเนินชีวิต ของท่านมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 54.7 เห็นว่ามีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ส่วนร้อยละ 36.6 เห็นว่ามีผลปานกลาง ขณะที่ร้อยละ 8.7 เห็นว่ามีผลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
ทั้งนี้เมื่อถามว่ามีการปรับตัวหรือไม่อย่างไร ในยุคที่ข้าวของราคาแพงขึ้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.9 มีการปรับตัว โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 60.9 ทำอาหารกินเอง เอาอาหารมากินเองที่ทำงาน รองลงมาร้อยละ 59.7 ลดปริมาณการซื้อลง และร้อยละ 50.2 ซื้อสินค้าอย่างอื่นทดแทนสินค้าที่ราคาแพงขึ้น ขณะที่ร้อยละ 11.1 ไม่มีการปรับตัว ใช้ชีวิตปกติ กินปกติ
โดยเมื่อถามว่าการขึ้นราคาสินค้าอุปโภค บริโภคอะไร ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากที่สุด ประชาชนร้อยละ 46.9 เห็นว่าคือการขึ้นราคาค่าน้ำมันเชื้อเพลิง รองลงมาคือ การซื้ออาหารสดตามตลาด คิดเป็นร้อยละ 35.7 และการไปกินอาหารที่ร้านตามสั่ง ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว คิดเป็นร้อยละ 8.9
สุดท้ายเมื่อถามว่าจากข้าวของราคาแพงขึ้น คิดว่าการมีโครงการคนละครึ่งเฟส 4 จะช่วยเหลือประชาชนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นมากน้อยเพียงใด ประชาชนร้อยละ 47.1 เห็นว่าช่วยได้ระดับปานกลาง ส่วนร้อยละ 32.1 เห็นว่าช่วยได้ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 20.8 เห็นว่าช่วยได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 65)
Tags: กรุงเทพโพลล์, คนละครึ่งเฟส 4, ค่าครองชีพ, ผลสำรวจ