กระแสคลั่งทุเรียนในจีนดันยอดนำเข้าโต ไทย-เวียดนามขับเคี่ยวชิงส่วนแบ่ง

กระแสความนิยมชมชอบ “ราชาผลไม้” ในประเทศจีนไม่ได้จำกัดอยู่แค่เนื้อทุเรียนสดอีกต่อไป แต่ยังขยายไปยังอาหารคาวหวานอีกสารพัดเมนู ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ชูทุเรียนเป็นจุดขายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในเมืองต่าง ๆ ของจีน พร้อมทั้งทำยอดขายสุดปัง ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสำหรับบรรดาผู้ส่งออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการเข้าถึงตลาดที่ยังมีความต้องการอย่างมากมายมหาศาลเช่นนี้

หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า ทุเรียนกลายเป็นสิ่งที่อินเทรนด์ในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนรุ่นใหม่ กระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมในแวดวงการทำอาหารและบริการอาหาร เมนูที่มีส่วนผสมของทุเรียนได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม เช่น เชนร้านอาหารประเภทหม้อไฟและซุปไก่ใส่ทุเรียนในมณฑลกวางตุ้งมียอดขายมากกว่า 2.22 ล้านเสิร์ฟ ขณะที่ขนมปังไส้ทุเรียนได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดีย ด้านร้านบุฟเฟต์แห่งหนึ่งในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้งของจีน กลายเป็นไวรัลด้วยการนำเสนอไลน์บุฟเฟต์กว่า 200 เมนูที่มีส่วนประกอบเป็นทุเรียน ตั้งแต่โจ๊กไปจนถึงเค้ก ในราคาหัวละ 199 หยวน หรือเกือบ 1,000 บาท

เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของทุเรียนก็ขายดีไม่แพ้กัน หนึ่งในนั้นคือ ชานม ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในประเทศจีน

“ชานมผสมเนื้อทุเรียนเป็นสินค้าขายดีที่สุดของเรา” จริยา อุ่นทอง หญิงไทยเจ้าของร้านชาไทยในนครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กล่าวกับสำนักข่าวซินหัว

นอกจากนี้ หัวข้อเกี่ยวกับอาหารที่มีทุเรียนเป็นตัวชูโรง เช่น “บาร์บีคิวทุเรียน” และ “บุฟเฟต์ทุเรียน” มียอดวิวมากกว่า 1.24 พันล้านครั้งบนโต่วอิน หรือติ๊กต๊อกเวอร์ชันจีน

*ไทย-เวียดนามขับเคี่ยวชิงส่วนแบ่ง

แม้สภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองทำให้ผู้บริโภคชนชั้นกลางของจีนจำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น แต่ดูเหมือนสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อความ “อยากกินทุเรียน” ของชาวจีน ในทางกลับกันกลับยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว จีนซึ่งเป็นผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ที่สุดถึง 91% ของทั่วโลก จึงได้เพิ่มการนำเข้า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เว็บไซต์เวียดนามเน็ตรายงานข้อมูลเบื้องต้นจากกรมศุลกากรจีนว่า นับจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 จีนนำเข้าทุเรียน 1.53 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6.83 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 9.4% ในแง่ของปริมาณ และ 3.9% ในแง่มูลค่า เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

โดยจีนนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามประมาณ 720,660 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.86 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้น 50.2% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 38.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของเวียดนามในจีนอยู่ที่ 47.09% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 34.3% ในปีก่อน และทำให้เบียดขึ้นมาเกือบจะเท่ากับไทยซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 52.03%

ขณะที่รายงานจากเวียดนาม อะกริคัลเจอร์ นิวส์ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลของกรมศุลกากรของจีนในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2567 พบว่า จีนนำเข้าทุเรียน 1.38 ล้านตัน คิดเป็น 6.2 พันล้านดอลลาร์ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 5.6%

ในจำนวนนี้ ทุเรียนจากไทยคิดเป็นเกือบ 755,000 ตัน หรือ 54.7% ของยอดนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน คิดเป็นมูลค่า 3.73 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีน 618,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.45 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเก้าเดือนแรก

แม้ว่าไทยยังคงครองความเป็นผู้นำ แต่ตัวเลขของไทยลดลง 14.1% ในแง่ปริมาณ และ 13.3% ในแง่มูลค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่เวียดนามเพิ่มขึ้น 72.2% และ 57.3% ตามลำดับ

เหงียน ทันห์ บินห์ เลขาธิการสมาคมผักและผลไม้ของเวียดนาม (Vinafruit) คาดว่าในปี 2568 การส่งออกทุเรียนของเวียดนามจะเติบโตขึ้นอีก เนื่องจากจีนเปิดตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น ทุเรียนบดและเนื้อทุเรียน ซึ่งมีราคาสูงกว่าทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะช่วยเพิ่มการใช้วัตถุดิบและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

ด้านสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) หรือ depa (ดีป้า) ได้เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล) ยกระดับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนและมาตรฐานทุเรียนไทยด้วยดิจิทัล เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เสริมสร้างความไว้วางใจของผู้บริโภคที่มีต่อทุเรียนไทย และส่งเสริมผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางการแข่งขันจากจีนและประเทศเพื่อนบ้าน

*ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สบช่อง หาโอกาสสอดแทรก

นอกจากไทยและเวียดนามแล้ว จีนยังนำเข้าทุเรียนสดจากมาเลเซียและฟิลิปปินส์ด้วย แม้ว่าจะเป็นปริมาณค่อนข้างน้อย โดยข้อมูลระบุว่า ฟิลิปปินส์ส่งออกทุเรียนสด 6,260 ตันในช่วงสามไตรมาสแรก ขณะที่มาเลเซียซึ่งได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดในเดือนมิ.ย. ส่งออก 215 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3.65 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าทุเรียนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในจีน และแม้ว่าหลายประเทศพยายามเพิ่มการส่งออกทุเรียนไปจีน แต่ตลาดจีนยังมีโอกาสให้เติบโตอีกมาก โดยรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาสำหรับองค์กรธุรกิจ Guanyan Tianxia ซึ่งตั้งอยู่ในปักกิ่ง ระบุว่ามีชาวจีนไม่ถึงหนึ่งในร้อยคนที่เคยกินทุเรียน หรือคิดเป็นเพียงประมาณ 1% ของประชากรจีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดจีนยังมีศักยภาพเติบโตอีกมาก

โอกาสมากมายเหล่านี้กำลังดึงดูดผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด รวมถึงอินโดนีเซีย ซึ่งแต่เดิมส่งออกทุเรียนกวนไปจีน ก็หันมาเร่งความพยายามในการส่งออกทุเรียนสด จากการเปิดเผยของซุลกิฟลี ฮาซัน รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการอาหาร เมื่อเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา

ด้านสปป.ลาว ซึ่งอุตสาหกรรมทุเรียนเพิ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่นานนี้ ก็เตรียมโดดร่วมวงชิงส่วนแบ่งในตลาดทุเรียนของจีนด้วยเช่นกัน ตามรายงานของนิกเกอิเอเชียเมื่อปลายเดือนตุลาคม โดยนายบุนจัน คมบุนยะสิด อธิบดีกรมการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ลาวกำลังเตรียมเอกสารการเข้าสู่ตลาด และจะส่งออกทุเรียนลาวไปยังจีนในเร็ว ๆ นี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 68)

Tags: , , ,