กระเป๋าแบนแต่คนไทยยังเที่ยวลั้นลา! ส่อง 3 กลยุทธ์เด็ดมัดใจนทท.ยุคเศรษฐกิจชะลอ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มีมุมมองว่า ชาวไทยยังคงพร้อมเที่ยวต่อในปีหน้า แต่มีแนวโน้มลดการใช้จ่ายลง จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่เติบโตชะลอตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่จะลดลงมากกว่าการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งแนวโน้มการลดค่าใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวนี้ ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการใช้จ่ายด้านอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวยังคงเป็นหนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตที่ชาวไทยให้ความสำคัญ จากสัดส่วนผู้ที่จะเลิกใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศมีเพียง 9% ซึ่งต่ำกว่าการเลิกใช้จ่ายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

SCB EIC ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคชาวไทยเกี่ยวกับแนวโน้มการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยว พบว่า แม้นักท่องเที่ยวไทยจะได้รับแรงกดดันด้านกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มผู้มีสถานะการเงินที่มั่นคงยังมีแนวโน้มใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่มีภาระหนี้ กลุ่มรายได้ดี และโดยเฉพาะกลุ่มที่คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นก็ยิ่งมีแนวโน้มใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่กลุ่มผู้มีสถานะการเงินเปราะบางมากกว่าครึ่งหนึ่งมีแนวโน้มท่องเที่ยวลดลงหรือยกเลิกแผนเที่ยว

ทั้งนี้ การใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศจะอยู่ที่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อวัน และการใช้จ่ายเฉลี่ย สำหรับการท่องเที่ยวต่างประเทศจะอยู่ที่ขั้นต่ำ 10,000 บาทต่อคนต่อวัน โดยนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIA+ และกลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างประเทศสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงกดดันการใช้จ่ายของชาวไทย 4 วิธีที่นักท่องเที่ยวไทยเลือกใช้ในการปรับตัวด้านการท่องเที่ยวเรียงตามลำดับได้ดังต่อไปนี้ 1. วิธีลดความถี่ในการท่องเที่ยว 2. วิธีลดช็อปปิงสินค้า 3. วิธีเลือกที่พักที่ราคาประหยัดมากขึ้น และ 4. วิธีชะลอแผนการท่องเที่ยว

โดยกลุ่มผู้ที่เผชิญภาวะรายได้ไม่พอจ่าย จะมีการปรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก โดยผู้มีปัญหาทางการเงิน บ่อยครั้งจะเลือกชะลอแผนการท่องเที่ยวมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ส่วนผู้มีปัญหาเป็นบางครั้งจะเลือกลดความถี่ในการท่องเที่ยวแทน

นอกจากนี้ ช่วงอายุที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อการปรับตัวที่แตกต่างกันด้วย โดยกลุ่มวัยรุ่น/วัยเริ่มทำงานกับกลุ่มผู้สูงวัย จะพยายามคงแผนท่องเที่ยวเดิมแต่จะเลือกปรับพฤติกรรมการเที่ยวแทน เช่น กลุ่มวัยรุ่น/วัยเริ่มทำงานจะยอมลดความสะดวกสบายในระหว่างท่องเที่ยวด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ ทั้งการเลือกที่พักราคาสบายกระเป๋าและการประหยัดค่าอาหาร ส่วนกลุ่มผู้สูงวัยจะเลือกปรับตัวด้วยการเปลี่ยนแผนมาเที่ยวในประเทศมากขึ้นหรือใช้บริการกรุ๊ปทัวร์เพื่อลดค่าใช้จ่าย ขณะที่กลุ่มวัยทำงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูงจะเลือกชะลอแผนการท่องเที่ยวออกไปมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ

ทั้งนี้ มี 3 กลยุทธ์สำคัญ ที่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอาจนำมาพิจารณา เพื่อให้ตอบโจทย์การปรับตัวของพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทย ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางสูง ได้แก่

– กลยุทธ์ที่ 1 การเจาะกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวกำลังซื้อดี แม้นักท่องเที่ยวไทยโดยรวมจะมีแนวโน้มลดการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวลง แต่กลุ่มผู้มีรายได้ค่อนข้างดีหรือผู้ที่คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มที่จะยิ่งใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวมากขึ้นทั้งการท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังคงเติบโตได้ค่อนข้างดีต่อเนื่อง

– กลยุทธ์ที่ 2 การเพิ่มความคุ้มค่าให้ตรงกับนักท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่ม ด้วยพฤติกรรมการปรับตัวของนักท่องเที่ยวที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย ดังนั้น การนำเสนอบริการที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมายในแต่ละกลุ่มจะช่วยดึงดูดได้อย่างตรงจุด เช่น การดึงดูดนักท่องเที่ยววัยรุ่น หรือวัยเริ่มทำงาน ด้วยการนำเสนอกิจกรรมที่น่าสนใจและเหมาะกับการสร้างคอนเทนต์

ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงวัยที่เน้นความสะดวกสบาย ควรใช้วิธีเพิ่มความคุ้มค่าจากบริการพิเศษที่เหมาะสมแทน เช่น การบริการขนมหวาน การเข้าชมการแสดงโชว์ หรือคลาสออกกำลังกาย แต่สำหรับกลุ่มวัยทำงานซึ่งยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมาก การเลือกวิธีจัดทำโปรโมชันลดราคา จึงเป็นแนวทางที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ดีกว่าวิธีอื่น

– กลยุทธ์ที่ 3 การบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายของธุรกิจ จากกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวไทยที่ลดลง ทำให้ภาคธุรกิจต้องบริหารจัดการต้นทุนเพื่อนำเสนอแพ็กเกจราคาประหยัดให้กับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งการบริหารจัดการต้นทุนสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่าง AI, Automation ในการบริการลูกค้าและบริหารจัดการโรงแรม รวมถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์, การใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,