กระทรวงการคลังสหรัฐจ้างนักเศรษฐศาสตร์ 2 คน เพื่อศึกษาผลกระทบและผลที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิดจากมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีบทบาทสำคัญในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ โดยกระทรวงการคลังประกาศก่อนหน้านี้เมื่อเดือนก.ย. 2565 ว่าจะมีการจัดตั้งตำแหน่งใหม่ขึ้น
หน่วยวิเคราะห์การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Sanctions Economic Analysis Unit) จะทำการวิจัยเกี่ยวกับความเสียหายของมาตรการคว่ำบาตร ทั้งก่อนที่จะมีการบังคับใช้และหลังจากบังคับใช้ไปแล้ว เพื่อพิจารณาว่าควรมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่
ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานนักเศรษฐศาสตร์ด้านการคว่ำบาตรคือ นางเรเชล ลินกาส ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์ประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขณะที่นางลีนา ภัทนาการ์ เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังของสหรัฐซึ่งเคยทำงานด้านนโยบายเอเชีย จะมารับตำแหน่งรองประธาน โดยคาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเปิดรับสมัครแล้ว 2 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ สหรัฐได้ขยายการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่เหตุวินาศกรรม 9/11 และการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ได้ผลักดันให้สหรัฐดำเนินมาตรการลงโทษทางการเงินครั้งใหญ่ เนื่องจากสหรัฐและชาติพันธมิตรต้องการจำกัดความสามารถของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียในการจัดหาเงินทุนเพื่อทำสงคราม
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยบางส่วนโต้แย้งว่ามีการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรมากเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องที่จัดการได้ยาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะยกเลิกหรือยุติมาตรการนั้น ๆ หากบังคับใช้ไปแล้ว โดยรายงานล่าสุดจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่ต้นทุนทางสังคมจากการคว่ำบาตรนั้น พบว่า การคว่ำบาตรทำให้สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศเป้าหมายย่ำแย่ลงเป็นอย่างมาก
ด้านนายไบรอัน เนลสัน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐด้านการก่อการร้ายและข่าวกรองทางการเงินกล่าวว่า กระทรวงมุ่งมั่นที่จะศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเป้าหมายที่ถูกคว่ำบาตร ตลอดจนผลกระทบต่อหุ้นส่วนและพันธมิตรด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 66)
Tags: กระทรวงการคลัง, คว่ำบาตร, นักเศรษฐศาสตร์, สหรัฐ