กรรมการ BOJ เรียกร้องการดีเบตเพิ่มเติม ประเด็นยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบ

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานสรุปความคิดเห็น (Summary of Opinions) ของกรรมการ BOJ ในวันนี้ โดยระบุว่า ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 18-19 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น กรรมการ BOJ บางคนได้เรียกร้องให้มีการอภิปรายเพิ่มเติมและหารือกันในระดับลึก เกี่ยวกับการยุตินโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) ในอนาคต ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นจนทำให้ BOJ ใกล้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ

แม้คณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงินในวันดังกล่าว แต่กรรมการ BOJ ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 9 คนมีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยกรรมการส่วนหนึ่งมีความไม่มั่นใจเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่กรรมการอีกส่วนหนึ่งมองว่า BOJ จำเป็นต้องเริ่มเตรียมความพร้อมในการถอนนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในวันข้างหน้า

รายงาน Summary of Opinions ระบุว่า กรรมการคนหนึ่งของ BOJ กล่าวว่า “ช่วงเวลาในการปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ระดับปกตินั้น “กำลังใกล้เข้ามา” เมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้ที่ BOJ จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ภาวะเงินเฟ้อสูงจะส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคและบั่นทอนโอกาสในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว BOJ จึงไม่ควรพลาดโอกาสที่จะปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ระดับปกติ”

อย่างไรก็ดี กรรมการ BOJ อีกคนหนึ่งกล่าวว่า BOJ ควรรอคอยผลลัพธ์การเจรจาเกี่ยวกับค่าจ้างในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า เนื่องจากเงินเฟ้ออาจจะไม่เพิ่มขึ้นเหนือระดับเป้าหมายที่ 2% มากนัก แม้ว่าค่าจ้างจะปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม

ทั้งนี้ กรรมการ 2 คนของ BOJ ได้เรียกร้องให้มีการอภิปรายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถอนนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ โดยกรรมการรายหนึ่งกล่าวว่า BOJ ควรจะมีการหารือกันในระดับลึกเกี่ยวกับช่วงเวลาในการถอนนโยบายดังกล่าว รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมในวันข้างหน้า

ในการประชุมเมื่อวันที่ 30-31 ธ.ค. คณะกรรมการ BOJ มีมติอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.1% และยังคงให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวที่ระดับราว 0%

นอกจากนี้ BOJ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ไปจากการประชุมครั้งก่อนในเดือนต.ค. โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% และให้ระดับดังกล่าวเป็นระดับอ้างอิง หรือ”reference point” เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสามารถปรับตัวขึ้นได้อีก และเพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 66)

Tags: , ,