กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 โดยได้แบ่งอาคารในการตรวจสอบออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
อาคารกลุ่มที่ 1 ได้แก่ อาคารสาธารณะ อาคารชุมนุมคน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารราชการ
อาคารกลุ่มที่ 2 ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ โรงแรม คอนโดมิเนียม หอพัก ห้างสรรพสินค้าที่เป็นของภาคเอกชน
อาคารกลุ่มที่ 3 ได้แก่ อาคารบ้านพักอาศัย ตึกแถว ห้องแถว และอาคารทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ได้สรุปผลการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.- 3 เม.ย.68 ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น 5,555 อาคาร ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติ ดังนี้
- สามารถใช้งานได้ปกติ (สีเขียว) จำนวน 5,203 อาคาร
- เสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ (สีเหลือง) 304 อาคาร
- โครงสร้างเสียหายอย่างหนัก และสั่งระงับการใช้งานอาคาร (สีแดง) 48 อาคาร
นอกจากนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง มีช่องทางให้เจ้าของอาคาร ผู้ตรวจสอบอาคาร หรือพี่น้องประชาชน สามารถรับทราบข้อมูลต่าง ๆ และให้คำปรึกษาผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ของกรมฯ สื่อมวลชน โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เปิดสายด่วนสำหรับขอรับคำปรึกษา และแจ้งเหตุที่หมายเลข 1531 หรือโทร 02 299 4191 และ 02 299 4312 ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ กรมฯ ได้สร้างความเข้าใจถึงเกณฑ์แบ่งสีระดับสถานะโครงสร้างอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขั้นต้น และข้อปฏิบัติหลังการตรวจสอบอาคาร ดังนี้
สีเขียว
- สถานะโครงสร้างอาคารที่ได้รับการตรวจสอบขั้นต้น : โครงสร้างอาคารมีความเสียหายเล็กน้อยหรือไม่มีความเสียหาย
- คำแนะนำการใช้อาคาร : สามารถใช้งานอาคารได้ตามปกติ
- ข้อปฏิบัติหลังการตรวจสอบอาคาร : เจ้าของอาคารควรเฝ้าระวังสภาพความเสียหายของอาคารที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงและหากตรวจสอบพบการเปลี่ยนแปลงหรือพบสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอาคารของหน่วยงานและแจ้งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบต่อไป
สีเหลือง
- สถานะโครงสร้างอาคารที่ได้รับการตรวจสอบขั้นต้น : โครงสร้างอาคารมีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้แต่ต้องระมัดระวังภัยจากเศษวัสดุร่วงหล่นจากชิ้นส่วนโครงสร้างและส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาคาร
- คำแนะนำการใช้อาคาร : สามารถใช้งานอาคารได้ต่อไป (บางส่วนหรือทั้งหมด) และอาคารต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
- ข้อปฏิบัติหลังการตรวจสอบอาคาร : จัดหาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญดำเนินงานสำรวจความเสียหายอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อยืนยันความปลอดภัยในการใช้งานอาคารและกำหนดวิธีซ่อมแซมที่เหมาะสมต่อไป
สีแดง
- สถานะโครงสร้างอาคารที่ได้รับการตรวจสอบขั้นต้น : โครงสร้างอาคารมีความเสียหายอย่างหนัก มีสภาพไม่ปลอดภัย
- คำแนะนำการใช้อาคาร : ห้ามใช้งานอาคาร
- ข้อปฏิบัติหลังการตรวจสอบอาคาร : การเข้าภายในอาคาร ต้องได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ รวมถึงต้องจัดหาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญดำเนินการสำรวจความเสียหายอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อกำหนดวิธีการซ่อมแชมที่เหมาะสม ก่อนเปิดให้ใช้อาคารต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 68)
Tags: กรมโยธาธิการและผังเมือง, แผ่นดินไหว