นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าเตรียมแผนเชิงรุกในการกำกับมาตรฐานการปล่อยของเสียออกจากเรือ (สปว.วล.) โดยสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ได้ออกประกาศแนวทางการดำเนินการจัดการของเสียประจำท่าเรือให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดของกรมเจ้าท่า โดยต้องมีองค์ประกอบการจัดการของเสียประจำท่าเรือ ทั้งในด้านการจัดทำข้อมูล และข้อปฏิบัติประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไปของท่าเรือ company profile ภูมิหลังของสถานประกอบการ สถานที่ตั้ง ลักษณะ/ชนิด ท่าเรือสินค้าผ่านท่าและกิจกรรม วิธีการขนถ่ายสินค้า เป็นต้น
โดยวัตถุประสงค์ของแผนจัดการของเสียต้องมีความชัดเจน ในการปฏิบัติงาน เพื่อกำจัดของเสียจากเรืออย่างชัดเจน ที่ต้องมีการทำประเมินกิจกรรม ประเภทและปริมาณของเสียแต่ละชนิด รวมทั้งมาตรการป้องกันมลพิษและลดปริมาณของเสีย สิ่งรองรับของเสียทั้งขนาด จำนวน ตำแหน่งและการเก็บ การขนย้ายต้องมีรายละเอียดทุกขั้นตอน
ขณะเดียวกัน กรมเจ้าท่ายังให้ความสำคัญกับวิธีการจัดการของเสียแต่ละชนิด ทั้งการขนย้าย/กำจัดของเสีย ผู้ให้บริการรับ/กำจัดของเสีย รายละเอียดผู้ให้บริการ ระหว่างท่ากับผู้ให้บริการ พร้อมระยะเวลา ขณะที่การจัดการของเสียจากเรือ ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติงานเมื่อได้รับการร้องขอจากเรือว่ามีความประสงค์จะกำจัดของเสียออกจากเรือ โดยเรือต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อาทิ แผนการปฏิบัติงาน (Flow Chart) ตั้งแต่วิธีการคัดแยกและจัดเก็บของเสียจากเรือประเภทต่าง ๆ การขนส่งไปยัง สถานที่กำจัด และวิธีการกำจัดของเสียจากเรือ
หากกรณีที่ท่าเรือเป็นผู้รับกำจัดเอง ต้องระบุอุปกรณ์ สิ่งรองรับของเสียจากเรือให้เพียงพอตามที่กรมเจ้าท่ากำหนด และในกรณีทีจัดหาผู้ให้บริการจากภายนอก เข้ามาดำเนินการจัดเก็บและบำบัดของเสียจากเรือ ต้องได้รับหนังสือรับรองจากกรมเจ้าท่า พร้อมแสดงเอกสารหลักฐานหรือสัญญา ในนามของผู้ให้บริการจัดเก็บฯ เพื่อให้เรือเก็บไว้เป็นหลักฐาน ส่วนในการนำของเสียเพื่อไปกำจัดยังสถานที่ปลายทาง ต้องมีระบบใบกำกับการขนส่งของเสีย ตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ส่วนปลายทางในการกำจัดของเสียจากเรือ ต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานราชการ หรือโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเพื่อให้กำจัดของเสียเป็นไปอย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ยังได้มีมาตรการป้องกันของเสียรั่วไหลออกจากเรือ โดยต้องมีการตรวจสอบเครื่องมือ อุปกรณ์ ก่อนการสูบถ่ายขนถ่าย ของเสียจากเรือที่เป็นของเหลว พร้อมตรวจสอบอุปกรณ์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีการตรวจสภาพร่างกายผู้ปฏิบัติงาน ต้องตรวจสภาพความพร้อมของร่างกายหรือสารเสพติด เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่เกิดจากการปฏิบัติงาน รวมทั้งการกำหนดแผนฉุกเฉินกรณีมีของเสียรั่วไหลออกจากเรือ เพื่อให้เกิดแผนปฏิบัติแก้ไขอย่างรวดเร็วและทันท่วงที พร้อมด้วยแผนการสื่อสารระหว่างเรือและท่าเรือ พร้อมระบบการแจ้งขอใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การจัดทำแผนดังกล่าวจะต้องทำควบคู่ไปกับการจัดเก็บข้อมูล การฝึกอบรม การทบทวนให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อรองรับของเสียจากเรือ และนำของเสียไปบำบัดอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 65)
Tags: กรมเจ้าท่า, ท่าเรือ, ภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์