นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ปรับมาตรการร้านอาหารเปิดให้บริการนั่งกินในร้านได้ โดยบังคับมาตรการนี้กับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งมีรายละเอียดมาตราการของแต่ละพื้นที่ ทางกรมอนามัย ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ปฏิบัติเข้มตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร “Covid Free Setting” อย่างเคร่งครัด คือ ร้านอาหารต้องมีการประเมินสภาพแวดล้อม (Covid Free Environment) โดยมีเกณฑ์การประเมิน ดังนี้
1.Clean and Safe คือ ทำความสะอาดโต๊ะ ที่นั่ง ทันทีก่อน-หลังใช้บริการ และจัดทำป้ายที่แสดงถึงการทำความสะอาด, ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมและห้องน้ำทุก 1-2 ชั่วโมง และดำเนินการตามหลักสุขาภิบาลของร้านอาหาร, จัดอุปกรณ์รับประทานอาหารเฉพาะบุคคล, งดจัดบริการอาหารรูปแบบผู้บริโภคบริการตนเอง หรือบุฟเฟต์ และจัดบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำโต๊ะ
2.Distancing คือ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และโต๊ะรับประทานอาหาร 1-2 เมตร กรณีพื้นที่มีเครื่องปรับอากาศเว้นระยะระหว่างโต๊ะ 2 เมตร และหากพื้นที่จำกัด ต้องจัดโต๊ะเว้นระยะไม่ถึง 1 เมตร ให้ทำฉากกั้น แต่ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการระบายอากาศ, จัดพื้นที่ไม่ให้แออัด ไม่นั่งตรงข้ามกัน, ความหนาแน่นผู้ใช้บริการพื้นที่ใช้เครื่องปรับอากาศไม่เกิน 50% ส่วนพื้นที่เปิด (อากาศถ่ายเท) ไม่เกิน 75% และจำกัดระยะเวลารับประทานอาหารไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดการสังสรรค์
3.Ventilation คือ เปิดประตู หน้าต่าง หรือเดินระบบจ่ายอากาศสะอาดอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ก่อนเปิดและปิดระบบปรับอากาศ, มีการระบายอากาศและหมุนเวียนที่เหมาะสมต่อจำนวนคน, พื้นที่ปรับอากาศ ให้เปิดระบายอากาศในพื้นที่รับประทานอาหารทุก 1 ชั่วโมง และห้องน้ำควรมีระบบระบายอากาศที่ดี หรือเปิดพัดลมระบายอากาศในห้องน้ำตลอดเวลาที่ให้บริการ
นอกจากนี้ได้มีมาตรการสำหรับผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ในการป้องการเชื้อโควิด-19 (Free Personnel and Covid Free Customer) สำหรับผู้ให้บริการมีข้อปฎิบัติ ดังนี้
1.ต้องมีภูมิคุ้มกัน โดยต้องฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยติดเชื้อโควิด 1-3 เดือนนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ
2.ต้องไม่พบเชื้อ โดยต้องคัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยแอปพลิเคชัน Thai Save Thai (TST) หรือแอปพลิเคชั่นอื่นๆ และจัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้พนักงานตรวจทุก 7 วัน
3.ป้องกันตนเองด้วยการปฎิบัติตนตามหลัก การป้องกันการติดเชื้อตลอดเวลา (Universal Prevention-UP) และ DMHTT รวมทั้งต้องมีผู้รับผิดชอบ กำกับติดตามพนักงานทุกคน งดการรวมกลุ่มขณะพัก และ งดรับประทานอาหารร่วมกัน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในเดือนก.ย. 64 นี้ ผู้ประกอบการสามารถเปิดร้านตามปกติ ไม่ต้องตรวจ ATK เป็นประจำ ให้ยึดมาตรการ DMHTT อย่างเข้มข้น ส่วนพนักงานไม่ต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ให้เตรียมการและเตรียมความพร้อมไว้ก่อน ภายในเดือนก.ย.นี้ สำหรับการจะบังคับใช้ในอนาคตตั้งแต่ 1 ต.ค.64 เป็นต้นไป โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการปฏิบัตตามมาตรการด้านผู้ให้บริการ โดยให้พนักงานทุกคนฉีดวัคซีนครบโดสหรือมีประวัติการติดเชื้อมาก่อนไม่เกิน 3 เดือน คัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” หรือแอปพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด พร้อมจัดหา ATK ให้พนักงาน และตรวจ ATK ทุก 7 วัน มีผู้รับผิดชอบกำกับติดตามพนักงานทุกคน และงดการรวมกลุ่มหรือกินอาหารร่วมกัน ส่วนมาตรการด้านผู้รับบริการนั้น ให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” หรือแอปพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด ต้องมี COVID free pass ก่อนเข้าบริการ เฉพาะร้านที่มีเครื่องปรับอากาศ และสำหรับร้านอาหารแต่ละจังหวัดต้องปฏิบัติตามมาตรการหรือข้อกำหนดของจังหวัดด้วย
สำหรับในส่วนของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ยังไม่ได้รับวัคซีน สามารถเข้าใช้บริการร้านอาหารได้ตามปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงของผู้ปกครอง และการปฎิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เนื่องจากในพื้นที่สีแดงเข้มมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ อย่างไรก็ดีเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แนะนำให้สั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ และรับประทานอาหารที่บ้าน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 64)
Tags: กรมอนามัย, ร้านอาหาร, ศบค., สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย