กรมวิทย์ฯ-มอ. ตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์โควิดภาคใต้ พบส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตา

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในวันนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) บันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ Center for Emerging SARS-CoV-2 Lineage Investigation in Southern Thailand (CESLIST) ซึ่งการจัดทำความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยทำให้การวิเคราะห์วิจัยสายพันธุ์ในภาคใต้ มีความรวดเร็วมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่

กรมวิทย์ฯ และ ม.อ. จะมีการจัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในบริเวณ ม.อ. เพื่อตรวจวิเคราะห์ และรับตัวอย่างจากโรงพยาบาลในเขตภาคใต้ ด้วยชุดตรวจมาตรฐานเดียวกับศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ และสนับสนุนนวัตกรรมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 พ.ย. 67

ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์วิจัยสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ในภาคใต้ สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ รวมถึงศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีน และระบบภูมิคุ้มกัน การวิจัยการตอบสนองของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สัมพันธ์กับสาเหตุทางพันธุกรรมร่วมกัน

สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ดำเนินการตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 26 พ.ย. 64 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 43,918 ราย พบเป็นสายพันธุ์เดลตา 28,705 ราย สายพันธุ์อัลฟา 14,523 ราย และสายพันธุ์เบตา 690 ราย ส่วนในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 30 ต.ค. – 26 พ.ย. 64 ซึ่งเป็นช่วงการเปิดประเทศ ข้อมูลจากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ จำนวน 1,955 ราย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา

ในส่วนการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 30 ต.ค. – 26 พ.ย. 64 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อจำนวน 479 ราย พบว่า เป็นสายพันธุ์เดลตา 478 ราย สายพันธุ์อัลฟา 1 ราย

ด้าน ผศ.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์ วิจัยสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมานักวิจัยของ ม.อ. ได้ดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสตลอดจีโนม ค้นหาสายพันธุ์ที่กำลังระบาด โดยการรับตัวอย่างบางส่วนจาก 4 จังหวัดชายแดนใต้และเขตสุขภาพที่ 12 โดยได้ดำเนินการตรวจสายพันธุ์เบื้องต้น ด้วยเทคนิค whole genome study เพื่อรายงานผลให้แก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอัพโหลดข้อมูลสู่ระบบกลางระดับสากล รวมทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลจีโนมเชื้อไวรัสเพื่อการศึกษาและวิจัยในอนาคต

สำหรับความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ฯ ครั้งนี้ นอกจากจะทำให้การวิเคราะห์ วิจัยสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในภาคใต้แล้ว ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรและนักวิจัยของ ม.อ. ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานเชี่ยวชาญของประเทศ ทำให้มีความพร้อมในการรับมือกับกับสถานการณ์การระบาดมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,