นางปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันพืชสมุนไพรเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากพืชสมุนไพรหลายชนิดมีสารสำคัญสามารถรักษาโรคบางชนิดได้ และยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น สมุนไพรพลูคาว สมุนไพรที่ประเทศต่างๆ นำไปใช้รักษาโรคและเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ส่วนในประเทศไทย มีการใช้สมุนไพรพลูคาวเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นสารต้านมะเร็ง รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน และใช้เป็นยาต้านการอักเสบ
อย่างไรก็ตาม การผลิตพืชสมุนไพรพลูคาวของไทยยังมีปัญหาสำคัญที่มีผลต่อปริมาณ และคุณภาพของผลผลิตคือโรคใบจุดและโรคต้นกล้าแห้ง ซึ่งการสะสมของโรคในต้นพันธุ์พลูคาวทำให้พืชมีความอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรคอื่นๆ และทำให้ได้ผลผลิตน้อย จึงทำให้มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีการปนเปื้อนของสารเคมีจากการป้องกันกำจัดโรค
สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ จึงได้ทำการประยุกต์ใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อผลิตต้นพลูคาวปลอดโรคและปลอดสารพิษจำนวนมากภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งสามารถย้ายเพื่อนำไปปลูกในโรงเรือนเพาะชำ เพื่อผลิตเป็นต้นกล้าปลอดโรคให้แก่เกษตรกรได้
รวมทั้งสามารถนำต้นพลูคาวปลอดโรคและสารพิษไปต่อยอดประยุกต์ปลูกในระบบโรงงานผลิตพืช (Plant factory) ซึ่งเป็นการปลูกพืชในอาคารที่ถูกสร้าง และออกแบบมาเฉพาะได้ทำให้สามารถผลิตสมุนไพรพลูคาวคุณภาพสูงได้ตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ยังได้พัฒนาขั้นตอนการเพิ่มการผลิตสารสำคัญสารเคอร์ซิตรินและรูตินในพลูคาว 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์ใบเขียวกับพันธุ์ก้านม่วง ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้มักนิยมใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง จึงทำให้สารสำคัญทั้ง 2 ชนิดนี้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพลูคาวจะสามารถสังเคราะห์สารเคอร์ซิตริน และรูตินได้เองตามธรรมชาติ แต่พบว่าจะมีปริมาณการผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ บางครั้งจะได้สารในปริมาณที่น้อยมาก เนื่องจากปริมาณสารพฤกษ์เคมีหรือสารสำคัญในพืชมักแปรผันตามสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่เพาะปลูก
ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ นางสาววรารัตน์ ศรีประพัฒน์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ พบว่า การใช้สารที่สามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองในพืชนั้น สามารถกระตุ้นให้พลูคาวสามารถเพิ่มการผลิตสารเคอร์ซิตรินในพลูคาวได้ถึง 3 เท่า และสามารถเพิ่มการผลิตสารรูตินในพลูคาวได้ถึง 1.6 เท่า ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับต้นที่ไม่ได้รับสารกระตุ้น ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในการผลิตสารสำคัญจากพืชในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ปัจจุบัน สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้ทดสอบปลูกต้นพลูคาวปลอดเชื้อในระบบที่ไม่ใช้ดินหรือระบบไฮโดรโปนิกส์ พบว่า การปลูกพืชในระบบนี้ทำให้สามารถจัดปัจจัยต่างๆ เช่น น้ำ แสง ธาตุอาหาร และอุณหภูมิ ให้แก่พืชได้อย่างเหมาะสม ต้นพลูคาวสามารถเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างมีคุณภาพ ปราศจากโรค ทำให้สามารถผลิตพลูคาวได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี
สำหรับงานวิจัยนี้ สามารถพัฒนากระบวนการผลิตพืชสมุนไพรพลูคาวสายพันธุ์ไทย เพื่อให้ได้พืชสมุนไพรที่มีคุณภาพ ปราศจากการปนเปื้อนสารพิษและสิ่งเจือปน เป็นทางเลือกในการปลูกพืชที่มีประสิทธิภาพเพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งควบคุมคุณภาพมาตรฐานในการผลิตสมุนไพรพลูคาวในเชิงพาณิชย์ต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 65)
Tags: กรมวิชาการเกษตร, ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, สมุนไพร, สมุนไพรพลูคาว