ตามที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลในหลายพื้นที่มีข้อกังวลในประเด็นมีการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคากุ้งทะเลภายในประเทศ ทำให้มีราคาตกต่ำ
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ประธานกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือชริมพ์บอร์ด (Shrimp Board) เปิดเผยว่า ปี 67 (เดือนม.ค.-เม.ย.) ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์กุ้งทะเล (ไม่รวมล็อบสเตอร์) 5,440.42 ตัน มูลค่า 788.49 ล้านบาท ซึ่งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าฯ ลดลง 51.65% และ 66.46% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนม.ค.-เม.ย. 66) เมื่อจำแนกชนิดกุ้งพบว่าเป็น กุ้งขาวแวนนาไมเพียง 389.58 ตัน (7.16%) กุ้งกุลาดำ 2.24 ตัน (0.04%) และกุ้งอื่น ๆ 5,048.61 ตัน (92.80%) ซึ่งรวมชนิดกุ้งที่จับจากธรรมชาติ โดยนำเข้ากุ้งทะเลจากอาร์เจนตินามากที่สุดถึง 46.08% ของมูลค่าการนำเข้ากุ้งทะเลทั้งหมดและเป็นกุ้งที่ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในประเทศไทย
สำหรับการนำเข้ากุ้งทะเลจาก อินเดีย และเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นสองประเทศที่เกษตรกรมีความห่วงกังวล พบว่า กุ้งจากอินเดียเป็นกุ้งอื่น ๆ รวม 268.79 ตัน และกุ้งจากเอกวาดอร์เป็นกุ้งขาวแวนนาไม รวม 352.34 ตัน (ที่มา: คณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลด้านกุ้งทะเล ประมวลผลจากกรมศุลกากร, 7 มิ.ย. 67)
ทั้งนี้ ปริมาณการนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมจากต่างประเทศในปี 67 (เดือนม.ค.-เม.ย.) รวม 389.58 ตัน เปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตกุ้งขาวแวนนาไมภายในประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งมีปริมาณรวม 63,172.44 ตัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.62% ของผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถกระทบต่อราคาจำหน่ายกุ้งภายในประเทศได้
นายบัญชา กล่าวว่า การประกาศงดการออกหนังสืออนุญาตนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศ ต้องเป็นมาตรการที่ดำเนินการในกรณีฉุกเฉินซึ่งเป็นกุ้งที่ได้จากการทำการประมงและมีเหตุอันควรที่ใช้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะประเทศไทยและประเทศผู้ผลิตกุ้งทะเลเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ต้องปฏิบัติตามความตกลงภายใต้ WTO โดยมาตรการที่ใช้ในการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร หรือมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ควบคุมสินค้าเกษตรและอาหารต้องกำหนดระดับความปลอดภัยและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าที่ไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้า หรือข้อกีดกันทางการค้าของประเทศสมาชิก ดังนั้น ทำให้ประเทศไทยและประเทศสมาชิกไม่สามารถกำหนดมาตรการการห้ามนำเข้าได้อย่างถาวร
พร้อมยืนยันว่ายังไม่พบการลักลอบนำเข้ากุ้ง ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ราคากุ้งภายในประเทศลดต่ำลงตามข้อห่วงกังวลของเกษตรกร โดยวัฏจักรราคากุ้งในประเทศไทยพบว่ามีช่วงที่ราคาตก 2 ช่วง ในรอบปี คือ ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. และเดือนก.ย.-ต.ค. ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคากุ้งในตลาดโลก และกลไกตลาดตามหลักการอุปสงค์-อุปทาน เมื่อตลาดโลกมีความต้องการสูงราคาจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อผลผลิตมีมากเกินความต้องการราคากุ้งก็จะต่ำลง และยังคงพบว่าราคาในปีนี้เริ่มลดลงในเดือนเมษายนเหมือนที่ผ่านมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 67)
Tags: กรมประมง, กุ้งนำเข้า, ชริมพ์บอร์ด, บัญชา สุขแก้ว, ราคากุ้ง