นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผลผลิตกุ้งเลี้ยงโดยรวมในปี 67 อยู่ที่ 270,000 ตัน ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาโรคระบาดและจากสภาพอากาศแปรปรวน กระทบคุณภาพลูกกุ้งและการเลี้ยงของเกษตรกร รวมถึงราคากุ้งตกต่ำ ที่ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้ง ตามที่สมาคมกุ้งไทยได้แถลงการณ์ออกมาก่อนหน้านี้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมง ไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาดังกล่าว ขณะนี้ได้เตรียมนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอยกระดับการแก้ปัญหากุ้งทะเลเป็นวาระแห่งชาติ ภายใน 17 ธ.ค. 67 นี้ โดยเร่งจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาโรคระบาดในกุ้งทะเล เช่น โรคตายด่วน (EMS) โรคขี้ขาว และ Enterocytozoon hepatopenaei (EHP) ประกอบด้วย 11 มาตรการ โดยมีการตั้งโจทย์ปัญหาที่ชัดเจน ครอบคลุมปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานกุ้งทะเล ผ่านการประชุมระดมความคิดเห็นกับผู้แทนผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน เน้นทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แก้ปัญหาการเกิดโรคที่ต้นเหตุ ส่งเสริมให้เกษตรกร 9,000 ราย มีการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี มีพันธุ์กุ้งทะเลคุณภาพสูงให้เลือกใช้ นำหลักการความปลอดภัยทางชีวภาพมาประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันโรคระบาด ควบคู่กับการเฝ้าระวังและควบคุมโรคที่เป็นระบบและต่อเนื่อง ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงกุ้งทะเล
โดยจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ ปม. ให้แก่เกษตรกร ร่วมกับการเสนอโครงการขยายฐานการผลิตจุลินทรีย์เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปี 2568 เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และศักยภาพการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ของกรมประมงและกลุ่มเกษตรกร ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร โดยการขอจัดตั้งศูนย์ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้น จำนวน 8 แห่ง จากปัจจุบันที่มีจำนวน 20 แห่ง รวม 28 แห่ง รวมถึงการเพิ่มศักยภาพให้กับหน่วยงานกรมประมงที่ดำเนินงานด้านจุลินทรีย์ เพื่อสนับสนุนทางด้านวิชาการให้กับศูนย์ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้ได้เชื้อจุลินทรีย์พื้นถิ่นที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ รวมถึงผลักดันให้เกษตรกรนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการเลี้ยงเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเกษตรแม่นยำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมส่งเสริมความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งทะเล
“จากสถานการณ์ปัญหาโรคระบาด การเพาะเลี้ยงชะลอตัว และราคากุ้งที่ตกลงในห้วงเวลาที่ผ่านมา กรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์เริ่มทยอยดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งได้รับความร่วมมือและข้อแนะนำต่าง ๆ จากสมาคมกุ้งไทยและผู้เกี่ยวข้องจากกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและสนับสนุนการทำงานของกรมประมง โดยขณะนี้ได้เตรียมเสนอครม. เพื่อประกาศยกระดับเรื่องการแก้ปัญหากุ้งทะเลเป็นวาระแห่งชาติ และจากมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนคาดการณ์ว่าจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องโรคกุ้งให้ลดลงได้อย่างต่อเนื่อง” นายบัญชา กล่าว
นายบัญชา กล่าวว่า จากผลการเฝ้าระวังโรคในกุ้งทะเลในปี 67 พบว่า แนวโน้มการตรวจพบเชื้อ EHP ลดลง ในขณะที่แนวโน้มการตรวจพบเชื้อ EMS สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อาจเป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของภาวะโลกร้อน (Global Warming) โดยกรมประมงได้มีการแก้ปัญหาโรคระบาดภายใต้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรตามแนวทาง ดังนี้
1. ให้บริการตรวจเฝ้าระวังโรคแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต ได้แก่ โรงเพาะฟัก โรงอนุบาล ฟาร์มเลี้ยง สถานประกอบการส่งออกสัตว์น้ำ และสถานบรรจุสัตว์น้ำ มากกว่า 200,000 ตัวอย่าง
2. ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคในกุ้งทะเลป่วย พร้อมให้คำแนะนำแนวทางการแก้ไข
3. ให้บริการคลินิกเคลื่อนที่ (Mobile Clinic) ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการเกิดโรค โดยการตรวจสุขภาพกุ้งทะเลเบื้องต้น การอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร และให้คำแนะนำเพื่อแก้ปัญหาการจัดการในฟาร์ม รวมทั้งการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผล จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ระยอง นครปฐม นครศรีธรรมราช และชุมพร มีเกษตรกรเข้ารับบริการมากกว่า 200 ราย
4. เผยแพร่และประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ด้านโรคและการจัดการสุขภาพกุ้งทะเลตามหลักสุขอนามัยและความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นพื้นฐาน
5. แจ้งเตือนเกษตรกรเพื่อเฝ้าระวังโรคในทุกฤดูกาล รวมทั้งในกรณีที่พบการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ จำนวน 5 ครั้ง ในหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้ การแจ้งเตือนการระบาดโรคตัวแดงดวงขาว การแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพสัตว์น้ำ การแจ้งเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำในช่วงปลายฝนต้นหนาว การแจ้งเตือนการระบาดโรคแคระแกร็น และการเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำในช่วงฤดูฝน
6. อำนวยความสะดวกโดยเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถติดต่อแจ้งกรมประมงเมื่อพบปัญหากุ้งทะเลป่วย ได้แก่ ช่องทางไลน์แอปพลิเคชั่น และแพลตฟอร์มการรายงานโรค (กพส.สร.1)
7. สร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการในระดับพื้นที่ จำนวน 6 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา นครศรีธรรมราช และเพชรบุรี เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพกุ้งทะเลเบื้องต้นแก่เกษตรกรได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
8. จัดประชุมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างเครือข่ายผลิตกุ้งปลอดภัยไร้สารตกค้าง จำนวน 4 ครั้ง ในปี 67 ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สงขลา สุราษฎร์ธานี และจันทบุรี โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 956 ราย และมีเจ้าหน้าที่กรมประมงลงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เรื่อง การใช้ยาและสารเคมีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 67)
Tags: กรมประมง, กุ้ง, บัญชา สุขแก้ว, โรคระบาดกุ้ง