กรมประมง ติวเข้มพัฒนาทักษะ จนท.สหวิชาชีพ IUU ประจำศูนย์ PIPO ทั่วประเทศ

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายอย่างจริงจัง และเข้มงวดของประเทศไทย ส่งผลให้คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศปลดใบเหลืองให้กับประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 62 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงรักษามาตรฐานการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด และต่อเนื่อง

ขณะที่รัฐบาลโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) มีนโยบายในด้านการคุ้มครองแรงงานอย่างต่อเนื่องจริงจัง และเน้นย้ำให้กรมประมง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการดำเนินการเพื่อคุ้มครอง ดูแล และป้องกันไม่ให้แรงงานในเรือประมงไทย ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงและแรงงานในภาคการประมง นำโดย พล.ต.อ.จารุวัฒน์ ไวศยะ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ จึงได้ขับเคลื่อนการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การปฏิบัติงานในการควบคุม ดูแล บริหารจัดการการทำประมงปลอด IUU และการค้ามนุษย์

สำหรับการฝึกอบรมหลักสูตร “เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก(PIPO)” ระหว่างวันที่ 15-17 ธ.ค. 64 ในครั้งนี้ กรมประมงได้จัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้กับชุดสหวิชาชีพประจำศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก จำนวน 100 คน โดยการพัฒนาองค์ความรู้ เทคนิค และทักษะในการปฏิบัติงานตามกฎ ระเบียบ ประกาศ และหลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ ที่กฎหมายได้บัญญัติไว้

ด้านหัวข้อการอบรม เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างคดีความผิดฐานค้ามนุษย์กับคดีบังคับใช้แรงงาน แนวทางการปรับปรุงและพัฒนาการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) รวมถึงการตรวจสอบและป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย การตรวจสอบ สอบสวน การสังเกตผู้เสียหายแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ แนวทางการสัมภาษณ์ลูกเรือของกลุ่มเรือประมงที่มีความสุ่มเสี่ยงในการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งในกระบวนการแจ้งเข้าออก หรือการแจ้งเหตุจากหน่วยติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการทำประมง เป็นต้น เพื่อให้สามารถตรวจสอบเรือประมงครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ เรือประมง แรงงานประมง และการทำการประมง ซึ่งจะส่งผลให้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง

นายบัญชา กล่าวว่า กรมประมง เชื่อมั่นว่าการอบรมในครั้งนี้ จะสามารถเพิ่มความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะแนวทางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพ ให้เป็นไปในมาตรฐานการปฏิบัติเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติงานตรวจสอบเรือประมงเกิดความเข้มแข็ง สามารถป้องกัน ยับยั้งการทำการประมง IUU และการค้ามนุษย์ เพื่อยกระดับการประมงของไทยสู่มาตรฐานสากล เกิดความยั่งยืนของทรัพยากร ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อประเทศคู่ค้าและสังคมโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,