รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันปริมาณน้ำท่าจากพื้นที่ตอนบนที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มลดลงแล้ว ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ในเกณฑ์ 1,754 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง กรมชลประทานได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งรวม 498 ลบ.ม./วินาที พร้อมปรับลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 1,338 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมแม่น้ำน้อยนอกคันกั้นน้ำ ตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลดลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน และน้ำท่าจากตอนบนเนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลากปี 2564 โดยจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ หากมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้น จะประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบต่อไป
ขณะที่สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 43,112 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 57% ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรับน้ำได้อีกรวม 32,348 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,804 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 39% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 3,108 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วรวม 15.01 ล้านไร่ คิดเป็น 89% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.86 ล้านไร่ คิดเป็น 86% ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ปัจจุบันเกษตรกรได้เก็บเกี่ยวข้าวหมดแล้ว หลังจากนี้จะเตรียมพื้นที่เป็นพื้นที่หน่วงน้ำต่อไป
เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกส่วนใหญ่ในขณะนี้ยังคงอยู่ในพื้นที่ท้ายอ่างฯ ทำให้จำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ตอนบนให้ได้มากที่สุด จึงได้สั่งการโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ อาทิ แก้มลิง หนอง บึง ให้ได้มากที่สุด พร้อมกับประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจทำการเพาะปลูกต่อไป
ทั้งนี้ กรมชลประทานจะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ ประจำจุดเสี่ยงพร้อมปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา ที่สำคัญได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานระดับจังหวัดในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุดตามนโยบายของรัฐบาล จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานกาณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 64)
Tags: กรมชลประทาน, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปริมาณน้ำ, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน