กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจำนวนมากที่จันทบุรี

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มสูงขึ้นใน จ.จันทบุรี ว่า กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ชลบุรี (สคร.6 ชลบุรี) ลงพื้นที่สอบสวนโรค เพื่อสนับสนุนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งจากรายงานในเบื้องต้นพบว่าเมื่อเทียบกับ 5 ปีย้อนหลัง ในช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละปี มีเพียง อ.เมือง ซึ่งเป็นเขตที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่นเท่านั้น ที่พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ แต่อาการไม่รุนแรง และไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต

ส่วนสาเหตุหลัก คาดว่าเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ทั้งนี้ ต้องรอผลแล็ปจากตัวอย่างน้ำ และอาหารที่ส่งตรวจเพื่อมายืนยันการระบาด และจากการสอบสวนเพิ่มเติมยังพบว่า อาหารที่ผู้ป่วยรับประทานก่อนมีอาการป่วย มีความหลากหลายเป็นอาหารทั่วไปไม่ได้จำเพาะ

สถานการณ์ผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง ที่จังหวัดจันทบุรี จากระบบรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 1-28 ธันวาคม 2564 พบผู้ป่วยจำนวน 589 ราย ซึ่งพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 19-25 ธันวาคม 2564 โดยพบผู้ป่วยสะสมถึงวันที่ (28 ธ.ค.64) จำนวน 273 ราย เป็นเพศชาย 99 ราย เพศหญิง 174 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ 20-29 ปี (31.14%) รองลงมา คือเด็กแรกเกิด-9 ปี (16.85%) และ 10-19 ปี (15.75%) ตามลำดับ จำนวนผู้ป่วยอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง เริ่มเพิ่มสูงผิดปกติ ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 64 เป็นต้นมา เพิ่มสูงขึ้นมากช่วง 27-29 ธ.ค. 64 เมื่อรวมกับผู้ป่วยใหม่ที่มีรายงานเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ตั้งแต่วันที่ 25-29 ธ.ค. 64 อีก 455 ราย รวมเป็น 728 ราย ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน และเด็กเล็ก อาการไม่รุนแรง มีถ่ายเหลว คลื่นไส้ ปวดท้อง ไข้บางราย พบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดเฉพาะในบางตำบลเท่านั้น

โดยในขณะนี้ จำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเริ่มลดลงแล้ว เหลือเพียงวันละ 30-40 ราย จากเดิมช่วงสูงสุดประมาณวันละ 60-70 ราย ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เหล่านี้ ผลจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบเชื้อก่อโรคในผู้ป่วยหลายราย เป็นเชื้อไวรัสโนโร ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุหลักในการพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติในครั้งนี้

นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า โรคอาหารเป็นพิษ สามารถเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิและสารพิษทั้งจากพืช สัตว์ สารเคมี หรือโลหะหนัก ภายในระยะเวลาอย่างน้อย 2-6 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน ผู้ที่ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือมีมูกเลือด ปวดมวนท้อง ปวดศีรษะ คอแห้ง กระหายน้ำ อาจมีไข้ร่วมด้วย ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่รับเข้าไป หากเกิดในผู้สูงอายุ อาจทำให้ขาดน้ำถึงขั้นช็อคหมดสติได้ การช่วยเหลือเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายผงเกลือแร่ (ORS) ทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที ซึ่ง ORS ประชาชนสามารถเตรียมเองได้ง่ายๆ โดยเติมน้ำตาลทราย 6 ช้อนชาและเกลือครึ่งช้อนชา ผสมกับน้ำสะอาด 1 ลิตร (1,000 ซีซี)

“วิธีการลดความเสี่ยงป่วย และป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ขอให้ประชาชน ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ อาหารที่เก็บไว้นาน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคอาหาร น้ำและน้ำดื่มที่สะอาดมีเครื่องหมาย อย. ล้างมือด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรกทุกครั้ง รวมถึงผู้ปรุงอาหารต้องล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงประกอบอาหารทุกครั้ง หากอาหารที่รับประทานมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ”

นพ.โอภาส กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,