พล.อ.อ.มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท.เผยเตรียมเดินหน้าผลักดันให้มีการใช้โดรนขนส่งในเขตเมือง โดยได้หารือร่วมกับ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT), บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด,บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.), ศูนย์บริหารจัดการห้วงอากาศ (ประเทศไทย), กสทช., หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนที่สนใจ เพื่อวางแผนกำหนดพื้นที่และวิธีการทดสอบการใช้โดรนขนส่งในเขตกรุงเทพมหานคร คู่ขนานไปกับการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่เริ่มจัดทำร่าง พ.ร.บ.การใช้งานโดรนเพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์แล้ว โดยในอนาคตจะพิจารณาออกใบอนุญาตการใช้โดรนขนส่งนี้ให้กับภาคเอกชนที่มีความพร้อมต่อไป
ทั้งนี้คาดว่าราวต้นเดือน มิ.ย.68 จะมีการทดลองใช้งานโดรนขนส่งในเส้นทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากสำนักงาน NT บางรักไปฝั่งตรงข้าม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาจราจรติดขัด ทำให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น ส่วนในอนาคตจะมีเส้นทางไหนเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ให้บริการโดรนขนส่งจะเสนอมาให้ กพท.พิจารณาตรวจสอบก่อนประกาศใช้ ส่วนค่าใช้จ่ายในการใช้บริการขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ให้บริการกับลูกค้า โดย กพท.อาจจะช่วยดูเรื่องเหมาะสม แต่มีหน้าที่หลักในการช่วยสนับสนุนให้เกิดบริการดังกล่าว
“ประโยชน์ของโดรนส่งของคือความสะดวกรวดเร็ว และความพอใจของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ แต่ความท้ายทายคือความปลอดภัยที่ กพท.ต้องเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับประชาชน จึงต้องมีการทดสอบเพื่อเก็บข้อมูลและหาทางป้องกันแก้ไขไว้ก่อน สุดท้ายจะมีประกันบุคคลที่ 3 ด้วย ที่กำหนดไว้ในขั้นตอนขึ้นทะเบียนอยู่แล้ว” พล.อ.อ.มนัท กล่าว
หลังจากเมื่อวันที่ 1 ก.ย.67 กพท.ได้ปรับปรุงและพัฒนากฏหมาย แก้ไขข้อจำกัดการอนุญาตโดรนที่มีน้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัม ทำให้เกิดการขับเคลื่อนและใช้งานโดรนขนาดใหญ่อย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเปิดรับจดทะเบียนโดรนและผู้บังคับโดรนผ่านระบบออนไลน์ UAS Portal (uasportal.caat.or.th) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.67 เพื่อแก้ปัญหาโดรนผิดกฎหมาย ส่งผลให้มีโดรนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีแรก 2558 ที่เริ่มจดทะเบียนโดรนมีจำนวนราว 100 ลำ ปี 2561 มีการจดทะเบียนจำนวน 3,966 ลำ และปี 2567 จดทะเบียน 27,822 ลำ ปัจจุบันมีโดรนจดทะเบียนสะสมรวมกว่า 12,507 ลำ แต่ยังพบว่ามีโดรนที่ไม่จดทะเบียนอีกประมาณ 20,000 ลำ ซึ่งมีทั้งโดรนทั่วไปและโดรนการเกษตร ส่วนผู้บังคับหรือปล่อยโดรนขณะนี้ได้ขึ้นทะเบียนจำนวน 60,000 คน เฉพาะปี 2567 ขึ้นทะเบียนจำนวน 37,751 คน โดยใบบังคับโดรนมีอายุ 2 ปี อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการกระตุ้นการจดทะเบียนโดรน CAAT จะไม่คิดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโดรนและผู้บังคับโดรนจนถึงเดือน ก.ย.68
กพท.ยังร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ จัดทำแผนแม่บท (Drone Master Plan) ให้ออกมาเป็น Roadmap สำหรับประเทศไทย ซึ่งจะมีรายละเอียดครบทุกมิติ ทั้งด้านนโยบาย กฎหมาย การพัฒนาบุคลากร การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัย ความมั่นคง และการป้องกันสิทธิส่วนบุคคล และในปี 2568 กพท.เริ่มทำการรับรองศูนย์ฝึกอบรมและหลักสูตรการฝึกอบรมผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน เพื่อช่วยผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมโดรนให้มีความรู้ด้านการบิน กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบินโดรน และมีทักษะความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีโดรนอย่างปลอดภัย
ล่าสุด กพท.ได้ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมระบบนิเวศนวัตกรรมโดรน (Ecosystems) ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ซึ่งเป็น UAV Regulatory Sandbox ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ทำการทดสอบ วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เกี่ยวกับโดรน โดย กพท.ร่วมมือกับวังจันทร์วัลเลย์ ด้านการอนุมัติ อนุญาต ทำการบิน หรือการทดสอบต่าง ๆ เกี่ยวกับโดรนให้มีความสะดวกรวดเร็ว สามารถนำผลการทดสอบ ทดลอง วิจัยและพัฒนาที่ได้มาต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโดรน เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไป รวมถึงมีผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศนำโดรนหรือระบบที่เกี่ยวข้องหลากหลายประเภทมาทดสอบเพิ่มมากขึ้น เช่น โดรนสำรวจแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ โดรนเกษตร โดรนกู้ภัย โดรนรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
นอกจากนี้ กพท.เตรียมปรับปรุงพัฒนากฎระเบียบเพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโดรนให้ก้าวไปข้างหน้า ได้แก่
1.การจัดทำกฎระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การอนุญาตโดรนประเภทความเสี่ยงปานกลาง (Specific Category) เพื่อให้ครอบคลุมการปฏิบัติการบินที่หลากหลายและเป็นระบบมากขึ้น
2.การปรับปรุงรูปแบบของกฎระเบียบในรูปแบบ TCARs เพื่อรองรับการแบ่งประเภทของการปฏิบัติการบินตามความเสี่ยง และมีรูปแบบของกฎระเบียบที่เป็นสากลมากขึ้น
3.กฎระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องการการปฏิบัติการบิน เช่น กฎระเบียบเกี่ยวกับการทำการบินนอกระยะสายตา (Beyond Visual Line of Sight : BVLOS) การปรับปรุงและใช้งานห้วงอากาศ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อยืนยันตัวตนและแสดงตำแหน่งสำหรับโดรน เป็นต้น
4.การปรับปรุง พ.ร.บ.การเดินอากาศฯ เพื่อให้กฎหมายแม่บท เหมาะสมกับการกำกับดูแลโดรน ในบริบทต่าง ๆ รวมถึงรองรับโดรนซึ่งกำลังถูกนำมาพัฒนาใช้ในการขนส่งมวลชนในอนาคตอันใกล้นี้
5.การออกคู่มือและแนวปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ขออนุญาตและผู้บังคับมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นรูปแบบเดียวกัน
ผู้อำนวยการ กพท.คาดการณ์ว่า อนาคตอันใกล้นี้จะมีการใช้งานโดรนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านลำ การกำกับดูแลการใช้โดรนจึงต้องขึ้นอยู่ประเภทความเสี่ยง ซึ่งตามมาตรฐานสากลจะแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ความเสี่ยงต่ำ กลุ่มใช้เพื่อความบันเทิงทั่วไป เช่น โดรนถ่ายภาพและวิดีโอทางอากาศ 2.ความเสี่ยงปานกลาง กลุ่มธุรกิจ เช่น โดรนเกษตร โดรนสำรวจและตรวจสอบ และ 3.ความเสี่ยงสูง กลุ่มโดรนที่มีการขนส่งผู้โดยสาร หรือโดรนขนสินค้าขนาดใหญ่ ดังนั้นจะมีหน่วยงานอื่น ๆ ตามหน้าที่ความรับผิดชอบเข้ามากำกับดูแล จึงเป็นความท้าทายของ กพท.ในการพัฒนาระบบกำกับดูแล และกลไกต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโดรนให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้โดรนที่ทันสมัย การกำหนดมาตรฐานบุคลากรในอุตสาหกรรมโดรนเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน การนำเทคโนโลยีระบบสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ในการกำกับดูแลเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการประสานและร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 68)
Tags: CAAT, NT, กพท., กสทช., การขนส่ง, ภาคเอกชน, มนัท ชวนะประยูร, วิทยุการบินแห่งประเทศไทย, ศูนย์บริหารจัดการห้วงอากาศ ประเทศไทย, สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, แม่น้ำเจ้าพระยา, โดรนขนส่ง, โทรคมนาคมแห่งชาติ, โลจิสติกส์, ไปรษณีย์ไทย