นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธาน อนุมัติขยายกรอบวงเงินชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) อีก 3,000 ล้านบาท จากเดิมกำหนดกรอบไว้ 15,000 ล้านบาท ทำให้ขณะนี้กรอบวงเงินสำหรับชดเชย LPG อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท
การขยายกรอบวงเงินดังกล่าว เพื่อให้บัญชี LPG มีเงินมากขึ้นสำหรับนำไปใช้ชดเชยราคา LPG ครัวเรือน ตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติให้ขยายเวลาตรึงราคา LPG ไว้เท่าเดิมที่ 318 บาทต่อขนาดถึง 15 กิโลกรัม ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. 64 จากเดิมสิ้นสุด 30 มิ.ย.64 นี้
ปัจจุบันบัญชี LPG ใช้เงินไปแล้วกว่า 12,328 ล้านบาท ใกล้เต็มกรอบวงเงินเดิมที่ 15,000 ล้านบาท จึงต้องขยายกรอบวงเงินเพิ่มเป็น 18,000 ล้านบาท ประกอบกับราคา LPG ตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นกว่า 600 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จากเดิมกระทรวงพลังงานคาดว่าราคา LPG โลกจะปรับตัวลดลงในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา แต่ปรากฎว่าตั้งแต่ต้นปี 64 จนถึงปัจจุบัน ราคา LPGโลกอยู่ระดับ 500-600 เหรียญสหรัฐฯต่อตันมาโดยตลอด จากปกติช่วงฤดูร้อนราคาจะอยู่ประมาณกว่า 300 เหรียญสหรัฐฯต่อตันเท่านั้น
โดยราคา LPG โลกที่ระดับราคา 600 เหรียญสหรัฐฯต่อตันในปัจจุบันส่งผลให้กองทุนฯต้องชดเชยราคา LGP ภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นจาก 6 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็น 8 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยโดยรวมชดเชยอยู่เดือนละ 1,000 ล้านบาท ดังนั้น คาดว่ากรอบวงเงินรวมที่เพิ่มเป็น 18,000 ล้านบาทดังกล่าวจะชดเชยราคา LPG ภาคครัวเรือนได้ประมาณ 10 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค.64 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดภาระกองทุน LPG ดังกล่าว ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้เสนอแนวทางให้ลดการชดเชย LPG แบบขั้นบันไดต่อ กบง.ที่ผ่านมา โดยเสนอลดการชดเชยราคา LPG ลงไตรมาสละ 1 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาปัจจัยด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจของประเทศประกอบด้วย
ขณะที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมแผนลดการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยอยู่ระหว่างรอให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ประกาศให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันฐานของกลุ่มเบนซินซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนราคาน้ำมัน และนำไปสู่การลดการชดเชยราคาได้บางส่วน มีผลให้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไหลออกน้อยลงได้
สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 9 พ.ค.64 เหลือเงินสุทธิ 20,498 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินในบัญชีน้ำมัน 32,826 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 12,328 ล้านบาท อย่างไรก็ตามกองทุนฯ มีภาระที่ต้องชดเชยราคา LPG และเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้มีไหลออกเดือนละ 1,700 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กองทุนฯ สามารถใช้ได้อีกเพียงแค่ 1 ปีก็จะหมดลง ดังนั้น สกนช.ได้เตรียมแผนการกู้เงิน 20,000 ล้านบาทไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ที่ประชุม กบน.ยังไม่พิจารณาให้เริ่มกระบวนการกู้เงินแต่อย่างใด โดยให้ สกนช.ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดต่อไปก่อน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 64)
Tags: E20, LPG, กรมธุรกิจพลังงาน, ก๊าซหุงต้ม, วิศักดิ์ วัฒนศัพท์, สกนช., สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์, เบนซิน, แก๊สโซฮอล์