ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.64 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้น จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม รวมทั้งมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้าจากการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลให้ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนบางกลุ่มเปราะบางมากขึ้น
จึงควรเน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย และสอดคล้องกับปัญหา โดยกระจายสภาพคล่องในระบบธนาคารที่มีอยู่มาก ไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบให้ทั่วถึง ผ่านมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ควบคู่กับกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนได้อย่างตรงจุด มากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ และอาจช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ไม่มาก
“คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด” รายงาน กนง.ระบุ
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรเร่งมาตรการจัดหาและกระจายวัคซีนที่เหมาะสม เพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อและลดต้นทุนต่อเศรษฐกิจ มาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐจึงควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจ และดูแลตลาดแรงงานในจุดที่มีความเปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
ขณะที่นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ จึงยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
“คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่อาจรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ความเพียงพอของมาตรการการคลัง และมาตรการด้านการเงิน และสินเชื่อที่ออกมาแล้ว โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น” รายงาน กนง.ระบุ
ในการประชุม กนง.ครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 64 โดยปรับลดประมาณการ GDP ลงมาอยู่ที่ 1.8% จากเดิม 3.0% รวมทั้งปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 65 ลงมาอยู่ที่ 3.9% จากเดิม 4.7% เนื่องจากเห็นว่าการระบาดของโควิดระลอก 3 มีความยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลง และอุปสงค์ในประเทศได้รับผลกระทบชัดเจน ภาคธุรกิจและตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้นและมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจาก (1) แนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงิน ฉบับใหม่วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนและการบริโภคภาคเอกชน จากผลกระทบของการระบาดระลอกสาม (2) พัฒนาการเชิงบวกของวัคซีนเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า ทั้งแผนการจัดหาเพิ่มเติมและการกระจายวัคซีนที่มากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยปรับดีขึ้นบ้าง (3) การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ และมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นจากหลายปัจจัย ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่
(1) ความยืดเยื้อของการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งจะลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน ส่งผลให้การระบาดยืดเยื้อรุนแรงจนนำไปสู่วิกฤติสาธารณสุขและกระทบการใช้จ่ายในประเทศ รวมถึงแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องล่าช้าออกไป
(2) เม็ดเงินเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจน้อยกว่าคาด หากอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฉบับใหม่ล่าช้า หรือมีอัตราการเบิกจ่ายน้อย
(3) ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่จนต้องปิด
(4) ปัญหา supply disruption และต้นทุนค่าขนส่งทางเรือที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจส่งออกของไทยมากกว่าที่คาด
คณะกรรมการฯ ประเมินภาพเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ และไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งจะทำให้การระบาดยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยเห็นว่าแม้พัฒนาการด้านการจัดหาวัคซีนจะดีขึ้นในปัจจุบัน แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับประสิทธิผลของวัคซีน เพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์ที่รุนแรง ขึ้นรวมทั้งการกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์ ควบคู่กับการเร่งดำเนินมาตรการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น และช่วงหลังการระบาดสิ้นสุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 64)
Tags: กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, ธปท., นโยบายการเงิน, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทย