ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยที่ประชุมเห็นว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง ส่วนตลาดการเงินมีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ โดยการทดสอบภาวะวิกฤตระดับมหภาค (macro stress test) ที่หน่วยงานกำกับดูแลจัดทำ พบว่าธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม และบริษัทประกันภัย มีสภาพคล่องเพียงพอและมีฐานะทางการเงินที่สามารถรองรับภาวะวิกฤตได้
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส อีกทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าลงและไม่ทั่วถึงส่งผลให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอยู่เดิมทำให้ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้น้อยยิ่งมีความเปราะบาง แม้ที่ผ่านมาทางการได้มีมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาภาระทางการเงินแก่ภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง (เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 1-3) แต่ยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเตรียมมาตรการเพื่อดูแลความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มเติมอย่างตรงจุดและทันการณ์ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและไม่ให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (economic scar) ที่รุนแรงจนเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวและส่งผ่านความเสี่ยงไปยังระบบการเงินได้ ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้านและให้น้ำหนักกับการดูแลความเสี่ยงใน 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. ปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงถึง 90.5% ของ GDP และวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นปัญหามากยิ่งขึ้น
ดังนั้น มาตรการเร่งด่วน คือ การเร่งผลักดันและกำหนดกลไก เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีภาระหนี้สูงอย่างจริงจัง โดยมีการติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลของการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้น ขนาดของความช่วยเหลือที่ภาคครัวเรือนต้องการ อาจสูงเกินกว่าที่จะให้เป็นภาระของสถาบันการเงินเพียงฝ่ายเดียว จึงจำเป็นต้องพิจารณาบทบาทของภาครัฐและตลาดทุนประกอบไปด้วย อีกทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความซับซ้อนในการแก้ไข เนื่องจากต้องคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการเกิด moral hazard และเกือบ 1 ใน 4 ของตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ ธปท. เผยแพร่เป็นหนี้ของสถาบันการเงินที่อยู่นอกการกำกับดูแลของ ธปท. และตัวเลขนี้ยังไม่ได้นับรวมหนี้บางชนิด เช่น หนี้นอกระบบ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องทำแบบองค์รวม อีกทั้งควรเร่งฟื้นฟูรายได้ของครัวเรือนอย่างยั่งยืนควบคู่ไป เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างครบวงจร
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาวนั้น ต้องมีการเตรียมการทั้งในเรื่อง
- โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลเครดิตที่ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมดของครัวเรือน
- การผลักดันให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending)
- การส่งเสริมให้ลูกหนี้มีความเข้าใจและมีวินัยทางการเงิน
- การส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการทางการเงินทางเลือกเพื่อช่วยลดหนี้นอกระบบ
2. การสะสมความเสี่ยงในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในระยะข้างหน้า เช่น พฤติกรรมของนักลงทุนบางกลุ่มที่แสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยประเมินความเสี่ยงของการลงทุนต่ำกว่าที่ควร (search for yield behavior) ซึ่งอาจได้รับผลกระทบเมื่อมีการปรับขึ้นของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ย จึงจำเป็นต้องพิจารณากรอบและแนวทางในการดำเนินมาตรการดูแลเสถียรภาพระดับมหภาค (Macro-prudential) ให้พร้อมใช้ในกรณีที่จำเป็นหลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง โดยบูรณาการร่วมกันระหว่าง ธปท. และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เพื่อช่วยลดการสะสมความเสี่ยงและป้องกันการส่งผ่านความเสี่ยงจากภาคส่วนหนึ่งไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจการเงิน
อย่างไรก็ดี ในภาวะที่สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจการเงินยังมีความไม่แน่นอน หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะร่วมกันประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ติดตามความเพียงพอและประสิทธิผลของมาตรการที่ดำเนินการไปแล้วอย่างใกล้ชิด และผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งเตรียมพร้อมออกมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมหากจำเป็น เพื่อจำกัดผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และปรับแนวทางการกำกับดูแลร่วมกันให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 64)
Tags: กนง., ธนาคารแห่งประเทศไทย, หนี้ครัวเรือน