พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีอุโมงค์ยักษ์ช่วยระบายน้ำขนาดใหญ่แล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลบ.ม.ต่อวินาที
ทั้งนี้ กทม. จะดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 6 แห่ง ความยาวรวม 39.625 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 238 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยมีแผนการดำเนินการ ดังนี้
– โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จะได้รับประโยชน์ เขตประเวศ บางนา พระโขนง และสวนหลวง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2565
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จะได้รับประโยชน์ เขตดอนเมือง สายไหม บางเขน หลักสี่ และเขตจตุจักร อยู่ระหว่างเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2569
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 พื้นที่ได้รับประโยชน์เขตบางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม และเขตคันนายาว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2567
โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเขตห้วยขวาง เขตลาดพร้าว และเขตจตุจักร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายใน พ.ศ. 2566 และแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2568
– โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด พื้นที่ได้รับประโยชน์ เขตทวีวัฒนา หนองแขม และเขตบางแค คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2567
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ฝั่งธนบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2569
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงแผนการบริหารจัดการน้ำระหว่างจังหวัดปริมณฑลกับ กทม. นั้น กทม. ได้มีการประสานงานร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง และจัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกับพื้นที่ปริมณฑล ดังนี้
พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา กทม. มีข้อตกลงในการบริหารจัดการน้ำกับพื้นที่รอบนอกซึ่งเชื่อมต่อกับปริมณฑลด้านเหนือ แนวริมคลองมหาสวัสดิ์ เขตทวีวัฒนา ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา ประตูระบายน้ำคลองซอย ประตูระบายน้ำคลองบางคูเวียง ประตูระบายน้ำคลองขุนศรีบุรีรักษ์ และประตูระบายน้ำคลองควาย โดยจะเปิดประตูระบายน้ำตลอดเวลา แต่ในช่วงฤดูฝนจะควบคุมระดับน้ำภายในพื้นที่ฝั่งธนบุรีไม่เกิน +0.80 ม.รทก.และถ้าระดับน้ำมากกว่านี้จะเปิดประตูบางส่วนหรือปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพฝนและระดับน้ำภายในพื้นที่
สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา กทม. มีข้อตกลงในการบริหารจัดการน้ำพื้นที่รอบนอกซึ่งเชื่อมต่อกับปริมณฑลด้านเหนือ คลองเปรมประชากรตอนประตูระบายน้ำคลองเปรมใต้ (ติดคลองรังสิต) ประตูดังกล่าวประกอบด้วยประตูแบบปิด และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 3 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 11 ช่วงฤดูฝนจะเดินเครื่องสูบน้ำรักษาระดับน้ำด้านในไม่เกิน +0.50 ม.รทก.ช่วงฤดูแล้งจะเปิดบานประตูเพื่อนำน้ำจากคลองรังสิตผ่านเข้ามาไหลเวียน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ต.ค. 64)
Tags: กทม., น้ำท่วม, อัศวิน ขวัญเมือง, อุโมงค์ระบายน้ำ