กทม. เดินหน้าปรับปรุงผังเมือง ตอบโจทย์ดูแลคุณภาพชีวิตคนกรุง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อเรื่อง “ผังเมืองและหน่วยงานภาครัฐจะสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างไร” ในงานสัมมนาใหญ่ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ประจำปี 2566 ว่า การปรับปรุงผังเมืองยังเป็นงานที่ต้องมีการเดินหน้าต่อ ซึ่ง กทม. ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันปรับปรุงและวางแผนการทำผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะของการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่มีความหนาแน่นมากที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งงาน และที่อยู่อาศัยที่สำคัญของประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงและพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในกับคนที่อาศัย และทำงานอยู่ในเมือง

ทั้งนี้ กทม. พร้อมเดินหน้าในการพัฒนาและปรับปรุงผังเมือง ที่สามารถดูแลคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้ดียิ่งขึ้น ทั้งการกำหนดพื้นที่เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่จะเสริมคุณภาพชีวิต และให้คนได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่แพงได้ ประกอบกับการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมและการเดินทางในเมือง ต้องเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้หลากหลายประเภท เพื่อสร้างศักยภาพของพื้นที่ และเสริมคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยของคนเมืองให้ดีขึ้น

“กทม. มีหน้าที่ในการดูแลคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัย และทำงานในเมืองให้ดีขึ้น ต้องพัฒนาพื้นที่ในเมืองให้มีประสิทธิภาพ มีที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่แพง และมีเส้นทางในการเดินทางที่สะดวก เพราะเมืองคือคน ผังเมืองจึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงในสอดคล้องกับสภาพในปัจจุบันที่กรุงเทพฯ เป็น Urbanize มากขึ้น คนไหลเข้ามาในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก และผังเมืองก็เป็นการกำหนดทิศทางของเมือง ซึ่งเราต้องวางรากฐานเหล่านี้ และผู้ประกอบการภาคอสังหาฯ จะเข้ามาต่อยอดในส่วนของการพัฒนาซัพพลาย” นายชัชชาติ กล่าว

สำหรับการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมืองนั้น มองว่ามาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) หรือ FAR Bonus จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์มีส่วนร่วม และเดินหน้าการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ต่อยอดเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัยให้กับคนเมือง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประสิทธิภาพพื้นที่ในเมืองด้วยเช่นกัน เช่น การทำที่หน่วงน้ำ การสร้างสะพานลอย เป็นต้น

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในส่วนของการก่อสร้างตึกสูงในเมือง มองว่าหลังจากกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 หนาแน่น เพราะส่วนหนึ่งตึกสูงที่ส่วนมากเป็นที่กักฝุ่น และการระบายอากาศของบางตึกไม่ค่อยมีการไหลเวียนของอากาศที่ดี ทำให้มีปริมาณฝุ่นสะสมเป็นจำนวนมาก ซึ่ง กทม.มองว่าการก่อสร้างตึกสูงในเมือง จะต้องมีการออกแบบตึกสูงให้มีการไหลเวียนของอากาศที่ไม่ขวางทิศทางลม เพื่อช่วยลดฝุ่นและมลพิษที่สะสมในตึกสูง เพื่อให้คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ ดีขึ้นตามมา

นอกจากนี้ในส่วนของที่จอดรถ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ กทม.ให้ความสำคัญ ซึ่งในส่วนของที่จอดรถในคอนโดมิเนียม ที่ปัจจุบันมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในการจัดสรรที่จอดรถของลูกบ้านในคอนโดมิเนียม ซึ่งก่อปัญหาให้เกิดการจัดสรรที่จอดรถไม่เพียงพอรองรับลูกบ้าน ส่งผลให้ลูกบ้านที่อาศัยในคอนโดมิเนียมที่มีรถยนต์ส่วนตัวต้องนำรถออกมาจอดข้างซอย สร้างความรำคาญกับคนในละแวกดังกล่าว ทำให้เกณฑ์การจัดสรรที่จอดรถดังกล่าว จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้มีการจัดสรรที่จอดรถมากขึ้น เพื่อรองรับให้เพียงพอกับคนที่อาศัยในคอนโดมิเนียม

สำหรับที่จอดรถในศูนย์การค้าต่างๆ นั้น จะต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยให้มีการจำกัดหรือยกเลิกการจัดสรรที่จอดรถในศูนย์การค้าต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของกทม. ที่ต้องการให้คนเมืองเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางโดยรถไฟฟ้า แต่ภาพในปัจจุบัน จะเห็นว่าศูนย์การค้าต่างๆ ที่จอดรถเต็ม และรถส่วนตัวแน่นถนน ส่วนใหญ่นำรถส่วนตัวเดินทางไปศูนย์การค้า ถือเป็นการดึงรถเข้าเมือง ทำให้มีความแตกต่างจากแนวทางของกทม. และแตกต่างจากต่างประเทศที่ยกเลิกการจัดสรรที่จอดรถในศูนย์การค้าต่างๆ โดย กทม.จะมีการทบทวนในเรื่องการจำกัดที่จอดรถในศูนย์การค้าด้วยเช่นกัน

ขณะที่การพัฒนาผังเมืองพิเศษขึ้นมา ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมารองรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในเมือง โดยกทม.จะมีการพัฒนาผังเมืองพิเศษที่เป็นต้นแบบขึ้นมา 2 ทำเล ได้แก่ ลาดกระบัง และบางขุนเทียน ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผน อีกทั้งแผนการย้ายท่าเรือคลองเตย เพื่อนำมาพัฒนาเป็นผังเมืองพิเศษ เป็นหนึ่งแผนงานที่กทม.จะต้องเดินหน้า เพราะปัจจุบันท่าเรือคลองเตยถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมลพิษเข้ามาให้กับกรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก ซึ่งภาคการขนส่งและอุตสาหกรรมควรจะตั้งอยู่นอกเมือง

“การย้ายท่าเรือคลองเตย เป็นไปตามแผนของกทม. ปี 65-67 และพื้นที่ของท่าเรือคลองเตยราว 2,000 ไร่ ถือว่ามีศักยภาพอย่างมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนเมืองได้อย่างมาก” นายชัชชาติ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มี.ค. 66)

Tags: , , , , , ,