นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการดำเนินมาตรการต่าง ๆ กรณีมีการคาดการณ์ว่าจะมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) สูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า วันนี้เป็นวันที่ค่าฝุ่นสูงอีกวันหนึ่ง แต่พรุ่งนี้การระบายก็จะดีขึ้น คาดว่าอัตราการระบายอากาศ (VR) จะดีขึ้นยาวไปประมาณ 3-4 วัน
ทั้งนี้ กทม.จะปรับปรุงเกณฑ์เรื่อง WORK FROM HOME (WFH) ซึ่งเดิมมาตรการ WFH ใช้เกณฑ์ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง (ค่า PM 2.5 ตั้งแต่ 75.1 มคก./ลบ.ม.) 5 เขต และคาดการณ์ล่วงหน้า 2 วัน เป็นสีแดง 5 เขต จึงจะประกาศ WFH แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากการ WFH เป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ เพราะฉะนั้น กทม.จะลดมาตรการลง เพื่อให้ประกาศ WFH ได้ง่ายขึ้น
สำหรับเกณฑ์การประกาศ WFH จะมีการพยากรณ์ล่วงหน้า 1 วัน หากพบค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีส้ม (ค่า PM 2.5 ตั้งแต่ 37.6-75.0 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 35 เขตขึ้นไป (70% ของพื้นที่กรุงเทพฯ) อัตราการระบายอากาศ (VR) ไม่ดี คือน้อยกว่า 2,000 ตารางเมตร/วินาที และพบจุดความร้อน (จุดเผา) เกินวันละ 80 จุด ติดต่อกัน 3 วัน จะมีมีการประกาศ WFH ซึ่ง กทม. กำลังติดตามอย่างละเอียดสำหรับต้นสัปดาห์หน้าในวันจันทร์-อังคาร เนื่องจากเห็นว่าอัตราการระบายเริ่มจะไม่ค่อยดี ตั้งแต่วันเสาร์-อาทิตย์ โดยจะมีการแจ้งอีกครั้งหนึ่ง
“การ WFH จะทำให้ปริมาณการจราจรในถนนลดลง ทำให้การจราจรติดขัดน้อยลง การปล่อยฝุ่นสะสมจะน้อยลงด้วย โดยในช่วงก.พ. 67 ที่ได้มีการประกาศ WFH ไปนั้น ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน 151 แห่ง หรือประมาณ 60,279 คน ร่วม WFH ตามประกาศ พบว่าปริมาณการจราจรในท้องถนนลงลดเกือบ 10%” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ปัจจุบัน มีหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย WFH ประมาณเกือบ 100,000 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 200,000 คน จึงขอเชิญชวนหากใครอยากจะร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนกับ กทม. ได้ผ่านลิงก์ https://bit.ly/3Nn25nR?r=qr โดยอยากให้บริษัทเข้าร่วมโครงการกับกทม. เพื่อจะได้เป็นประกาศจากบริษัทให้พนักงาน WFH
ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร โทร 02-2032951
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า อีกแนวคิดที่จะดำเนินเนินการ โดยอยู่ในขั้นตอนของนักวิชาการ คือตอนนี้มีโครงการรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ แล้ว มีทางด่วนต่าง ๆ เยอะ จึงมีแนวคิดเกี่ยวกับการพ่นฝอยละออง โดยไม่ได้ทำเฉพาะบริเวณสถานี แต่ต้องขยายผลตามแนวรถไฟฟ้า อาทิ สายสีเขียว สีเหลือง สีชมพู หรือทางด่วน ตลอดจนถนนลอยฟ้าต่าง ๆ ที่มีการจราจรติดขัดด้านล่าง
อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้อาจจะช่วยในเรื่องของ PM 10 ที่สามารถแตกตัวเป็น PM 2.5 ซึ่ง PM 10 เป็นส่วนหนึ่งของการคำนวนค่า AQI และอาจจะมีผลต่อด้านอื่น ทั้งนี้ ต้องให้มั่นใจก่อนว่าฝอยละอองน้ำช่วยได้จริงหรือไม่ โดยจะรวบรวมหลักฐานทางวิชาการ เพื่อยืนยันให้ชัดเจน แล้วจึงจะออกแบบทั้งระบบ
“โครงการนี้ อาจจะไม่ทันในปีนี้ ขอให้มีข้อมูลที่ชัดเจนก่อน เนื่องจากจะเป็นโครงการขนาดใหญ่” ผู้ว่าฯ กทม. ระบุ
- เดินหน้ามาตรการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/ไส้กรอง
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาส่วนหนึ่งของฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากการใช้รถยนต์ ขณะเดียวกัน ตอนนี้จะเห็นว่ามีการเผาชีวมวลในพื้นที่ด้านนอกมากขึ้น โดยในประเทศไทยมีการเผาเพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากปีที่แล้ว
ในส่วนของ กทม. จะต้องเดินหน้ามาตรการเกี่ยวกับเรื่องรถยนต์ในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/เปลี่ยนไส้กรอง เรื่องโครงการ LOW EMISSION ZONE หรือห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป (ยกเว้น EV, NGV, EURO 5 และ 6) เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งได้มีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว
“เมื่อถึงเกณฑ์ ก็จะประกาศไม่ให้รถบรรทุกเข้ามาได้ ยกเว้น EV, NGV, EURO 5-6 และรถที่ขึ้นบัญชีสีเขียว (Green List) ซึ่งปัจจุบันมีรถขึ้นทะเบียน Green List แล้วประมาณ 12,000 คัน อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/เปลี่ยนไส้กรองไม่มาก โดยคาดไว้ 500,000 คัน ขณะนี้มีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/เปลี่ยนไส้กรองประมาณ 200,000 คัน” นายชัชชาติ ระบุ
ด้านรถเมล์ควันดำ ได้สั่งการให้ไปตรวจทุกอู่ คันไหนที่มีควันดำเกินค่ามาตรฐานจะไม่ให้ออกมาวิ่ง หากเป็นรถบรรทุก ให้ติดตามถึงไซต์ก่อสร้าง เมื่อพบควันดำเกินค่ามาตรฐานให้หยุดการก่อสร้าง ซึ่งเคยทำไปแล้วในกรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และต่อไปจะขยายผลไปยังรถบรรทุกที่ปล่อยควันดำด้วย เพื่อให้เจ้าของงานร่วมรับผิดชอบในการไม่จ้างรถควันดำ กทม. จะตรวจอย่างเต็มที่ ส่วนประชาชนสามารถร่วมเป็นหูเป็นตาได้ โดยหากพบรถบรรทุกควันดำให้แจ้งผ่าน Traffy Fondue
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 68)
Tags: กรุงเทพมหานคร, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ฝุ่น PM 2.5, ฝุ่นละออง