นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญในพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครว่า กังวลเรื่องภัยแล้งซึ่งดูปริมาณน้ำฝนที่ตกในกรุงเทพมหานครในช่วงที่ผ่านมา มีค่าน้ำฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยถึงประมาณ 38% ก็กังวลว่าเกษตรกรที่อยู่บริเวณกรุงเทพฝั่งตะวันออกซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 100,000 ไร่ เกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องน้ำ จึงได้เชิญกรมชลประทานมาให้ข้อมูล ก็ได้รับข้อมูลว่าน้ำในเขื่อนทั้งจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังพอในการใช้ที่จะแบ่งปันลงมา ยังไม่ต้องกังวลมาก แต่ยังคงมีมาตรการในการเตรียมการรองรับ ซึ่งก็เป็นข่าวที่ทำให้สบายใจขึ้น แต่ก็ไม่ได้ประมาทและมีข้อสั่งการ ภายหลังจากที่ได้ฟังความคิดเห็นของนายกสมาคมชาวนา สภาเกษตรกรในพื้นที่เพราะเราให้ความสำคัญว่าพื้นที่ที่มีเกษตรกรอยู่เยอะและแหล่งเกษตรกรรมสำคัญของกรุงเทพมหานคร
สำหรับข้อสั่งการ เรื่องแรก มอบหมายสำนักการระบายน้ำและกรมชลประทานประสานงานกันอย่างเข้มข้น ทั้งด้านการพยากรณ์ การเตรียมรับมือทั้งภัยแล้งและภัยน้ำท่วม รวมทั้งการอัพเดทวิธีการระบายน้ำ เนื่องจากแผนที่ของกรมชลประทานและสำนักการระบายน้ำมีข้อขัดแย้งกัน ทางสำนักการระบายน้ำเน้นป้องกันน้ำท่วม ด้านกรมชลประทานเน้นเรื่องเกษตรกรรม เป็นคนละบทบาท หลังจากนี้ต้องเป็นเนื้อเดียวกันให้ได้
เรื่องที่ 2 จัดตั้งศูนย์ประสานงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถตอบ แก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว มอบหมายสำนักงานเขตหนองจอกเป็นเจ้าภาพและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกร สำนักระบายน้ำ กรมชลประทาน มาตั้งเป็นศูนย์ทำงานร่วมกันเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
เรื่องที่ 3 ในพื้นที่เกษตรกรรม เกษตรกรจะมีข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องน้ำเยอะก็ให้รับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรและนำไปปรับปรุง เช่น มีจุดที่อยากจะให้มีการสูบน้ำจากคลองแสนแสบมาเป็นน้ำต้นทุนในการทำเกษตร แต่ว่าเครื่องปั้มน้ำไปไม่ถึงเรื่องนี้ต้องไปดู หรือคลองบางคลองที่อาจจะมีการเน่าเสีย มีการขุดลอกที่ไม่พอเพียง รวมทั้งการบริหารจัดการทำนบน้ำ
เรื่องที่ 4 การให้ข้อมูลเกษตรกรรมแก่เกษตรกร เช่น เรื่องการปลูก การหว่านเมื่อไหร่ ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่เกิดขึ้นรวมทั้งการทำเกษตรทดแทน การปลูกพืชหน้าแล้ง เช่น แตงโม แคนตาลูป ซึ่งก็ได้ราคาดี แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการตลาด ดังนั้นทางกรุงเทพมหานครก็ต้องช่วยเร่งในเรื่องการหาตลาดให้กับเกษตรกร
อีกเรื่องคือ เรื่องเครื่องอัดฟาง ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกษตรกรลดการเผา ลดฝุ่น PM 2.5 ถ้าเกษตรกรมีต้นทุนถูกในการมัดฟาง ฟางที่อาจจะขายเป็นอาหารสัตว์หรือเอาไปทำอย่างอื่นได้ แต่ให้เกษตรกรไปเช่าเครื่องอัดฟางเอง ทำให้เกิดต้นทุนและทำให้เขามีแรงจูงใจในการเผามากขึ้น เรื่องนี้ได้สั่งการสำนักพัฒนาสังคมเร่งจัดหาเครื่องอัดฟางมาให้เกษตรกรในพื้นที่ใช้เพื่อลดการเผาและลดการเกิดฝุ่น PM 2.5
“วันนี้ในภาพรวมก็สบายใจขึ้น ทุกคนก็เข้าใจสถานการณ์ เราก็คิดว่าพี่น้องประชาชนของฝั่งกรุงเทพตะวันออกเป็นเกษตรกรจำนวนมาก เราไม่ได้ละเลยและเราก็ให้ความสำคัญ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 66)
Tags: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ภัยแล้ง