พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตได้ร่วมกับภาคประชาชน ดำเนินการจัดตั้งชุมชนต้นแบบ 15 ชุมชน โดยอาศัยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และร่วมระดมความคิดเห็นรูปแบบของกิจกรรม มีหน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วย สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขต กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน มีผู้นำชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อน โดยดำเนินการการจัดตั้งเครือข่ายด้านการจัดการน้ำเสียภายในชุมชน ตลอดจนกิจกรรมการจัดการน้ำเสียภายในชุมชนต่างๆ อาทิ การใช้เสียงตามสายในชุมชน การสาธิตถังดักไขมัน การทำน้ำหมักชีวภาพ การจัดสวนริมคลอง ตลอดจนการจัดกิจกรรมทางน้ำ ทั้งการกีฬาทางน้ำ และกิจกรรมทางศาสนา เป็นต้น
สำหรับชุมชนต้นแบบ 15 ชุมชน ประกอบด้วย 1. ชุมชนฮิดายะห์พัฒนา เขตสะพานสูง 2. ชุมชนหลอแหลคลองใหญ่ เขตสะพานสูง 3. ชุมชนมัสยิดกมาลุลอิสลาม เขตคลองสามวา 4. ชุมชนบ้านมั่นคงศาลเจ้าพ่อสมบุญ 54 เขตสายไหม 5. ชุมชนบริเวณริมคลองตาเตี้ย เขตมีนบุรี 6. ชุมชนบริเวณริมคลองสิบสี่ เขตหนองจอก 7. ชุมชนบริเวณริมคลองบึงทรายกองดิน เขตคลองสามวา
8. ชุมชนบริเวณริมคลองกะจะ เขตสวนหลวง 9. ชุมชนสุเหร่าบ้านดอน เขตวัฒนา 10. ชุมชนเพชรบุรี 40 เขตห้วยขวาง 11. ชุมชนบริเวณริมคลองจั่น เขตวังทองหลาง 12. ชุมชนบริเวณริมคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม 13. ชุมชนบริเวณริมคลองเสือน้อย เขตลาดพร้าว 14. ชุมชนบริเวณริมคลองหนองบอน เขตลาดพร้าว และ 15. ชุมชนบริเวณริมคลองลาดพร้าว เขตลาดพร้าว
พร้อมกันนี้ กรุงเทพมหานครได้ขับเคลื่อนกิจกรรมด้านการดูแลรักษาแหล่งน้ำ ลำคลอง โดยประสานความร่วมมือผ่านคณะกรรมการชุมชน ซึ่งคณะกรรมการชุมชนเป็นตัวแทนของประชาชนที่ถูกเลือกตั้งตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน พ.ศ. 2555 มีหน้าที่พัฒนาชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนทั้งทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนระดมทรัพยากรในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของชุมชนในการประสานงาน และดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรอื่นๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อม
ในส่วนของการรณรงค์สร้างจิตสำนึกสาธารณะ และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ในการดูแลรักษาคลองแสนแสบและแหล่งน้ำสาธารณะตั้งแต่ต้นทาง อาทิ การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียในครัวเรือน ไม่ทิ้งขยะ ของเสียหรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในคลอง เป็นต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำในคลอง สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และแก้ไขปัญหาน้ำเสียอย่างยั่งยืน
ด้านหน่วยงานภายในสังกัดของกรุงเทพมหานคร เช่น สำนักงานเขตและสำนักต่างๆ ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียเชิงบูรณาการ จัดให้มีการรณรงค์ไม่ทิ้งขยะหรือของเสียลงคลอง คู ลำรางลำกระโดงในพื้นที่เขต เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ใช้ผลตอบแทนเป็นสิ่งกระตุ้นประชาชนที่อาศัยริมคลองแสนแสบ เช่น การทำบุญทอดขยะรีไซเคิลทางสายน้ำ การสร้างรายได้จากขยะรีไซเคิล การรณรงค์นัดทิ้งนัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ในชุมชนริมคลอง เป็นต้น
ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานทหาร และภาคประชาชนในพื้นที่ ร่วมจัดเก็บขยะและวัชพืช ทำความสะอาดรักษาสภาพคูคลองให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยดำเนินการเป็นไปตามแผนรักษาความสะอาดคูคลอง และแหล่งน้ำตามวงรอบที่กำหนดไว้ ตลอดจนจัดกิจกรรมรณรงค์ และการปลูกจิตสำนึกให้แก่ประชาชน การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ สนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาบำบัด เป็นต้น
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมชลประทานกำหนดเกณฑ์ค่าระดับและปริมาณน้ำที่ผ่านกรุงเทพมหานคร เพื่อระบายน้ำจากพื้นที่ด้านบน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง โดยข้อตกลงร่วมกันระหว่างสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กับสำนักชลประทานที่ 11 ประกอบด้วย
1. สถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง ช่วงฤดูฝน จะเดินเครื่องสูบน้ำ เมื่อค่าระดับน้ำภายในสูงเกินกว่า +0.90 ม.รทก. และจะหยุดเดินเครื่องสูบน้ำ เมื่อค่าระดับน้ำภายนอกสูงถึง +1.70 ม.รทก.
2. สถานีสูบน้ำคลองแสนแสบ ตอนหนองจอก ช่วงฤดูฝน จะเดินเครื่องสูบน้ำ เมื่อค่าระดับน้ำภายในสูงเกินกว่า +0.90 ม.รทก. และจะหยุดเดินเครื่องสูบน้ำ เมื่อค่าระดับน้ำภายนอกสูงถึง +1.30 ม.รทก.
3. สถานีสูบน้ำประเวศ ตอนคลองพระองค์ไชยานุชิต จะเดินเครื่องสูบน้ำ เมื่อค่าระดับน้ำภายในสูงเกินกว่า +0.50 ม.รทก. และจะหยุดเดินเครื่องสูบน้ำ เมื่อค่าระดับน้ำภายนอกสูงถึง +0.75 ม.รทก.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 64)
Tags: กรุงเทพมหานคร, คลองแสนแสบ, ปัญหาน้ำเสีย, อัศวิน ขวัญเมือง