กทม. กำชับทุกเขตเร่งตรวจสอบนอมินี ยกเขตห้วยขวางต้นแบบ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2566 โดยได้มีการเน้นย้ำให้ทุกเขตไปตรวจสอบเรื่องธุรกิจของชาวต่างชาติ โดยไม่ได้เน้นเพื่อไปจับผิด เพราะธุรกิจเหล่านี้สามารถมองได้อีกมุม คือ การกระตุ้นการท่องเที่ยวจากคนต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม หากมีการกระทำที่เป็นลักษณะของนอมินี (การถือหุ้นแทนคนต่างชาติหรือการอำพรางชื่อผู้ถือหุ้นที่แท้จริงเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย) จะประสานกับกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงตรวจสอบว่าการนำเข้าของต่างประเทศมาขาย ว่ามีการดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม. ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามเดินหน้า แต่ก็ต้องบูรณาการกับหลายหน่วยงานด้วย ทั้งนี้ มีทั้งแง่บวกทั้งแง่ลบ ในแง่บวก ถ้าทำถูกกฎหมายก็เป็นการกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยว ให้ชาวต่างชาติรู้สึกอุ่นใจเวลามาอยู่เมืองไทย แต่ในแง่ลบคือ การผิดกฎหมาย ต้องดูว่าของที่เอามาเสียภาษีหรือไม่ แย่งอาชีพคนไทยหรือไม่ ต้องดูอย่างรอบคอบ ซึ่งพยายามจะตรวจสอบทุกเขต

สำหรับกรณีที่เขตห้วยขวาง มีธุรกิจของคนจีนจำนวนมากในพื้นที่ จากการตรวจสอบพบว่า มีการกระทำผิดอยู่ 4 แห่ง เช่น ขายของโดยไม่มีฉลาก ไม่มีการจดทะเบียนการค้าต่างๆ ส่วนในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีพื้นที่เยาวราช ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่เน้นย้ำให้ไปตรวจสอบ

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ กทม. และตำรวจ เพื่อหารือเกี่ยวกับระบบวิธีการทำงานในพื้นที่เขตห้วยขวาง กรณีมีชาวต่างชาติมาประกอบอาชีพอยู่จำนวนมาก และปรากฏเป็นข่าวอยู่ในโซเชียลมีเดียต่างๆ

จากการหารือ ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ชาวต่างชาติที่มาประกอบกิจการในพื้นที่เขตห้วยขวางทั้งหมด เป็นนอมินีแทบทั้งสิ้น คือให้คนไทยถือหุ้นแทนแต่ไม่ใช่เจ้าของตัวจริง โดยผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ได้ให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์มีจำนวนมาก พร้อมแนะนำให้ผู้อำนวยการเขตอื่นควรศึกษา พ.ร.บ. ของกระทรวงพาณิชย์ มาตรา 42 ที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาขอเปิดประกอบกิจการในรูปแบบกิ๊ฟชอป และผู้จดทะเบียนเป็นคนไทยแต่แรงงานอาจไม่ใช่คนไทย

นอกจากนี้ ได้มีการหารือว่า หากเกิดเหตุในพื้นที่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จากการพูดคุย ได้ข้อมูลว่า ในพื้นที่เขตห้วยขวางหรือพื้นที่อื่นๆ ที่มีเรื่องชาวต่างชาติ จะมีส่วนราชการจำนวนมากที่สามารถเข้าไปดูแลได้ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีบทบาทหน้าที่เฉพาะของตน เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และ กทม. อีกทั้งในพื้นที่เขตห้วยขวางมีสถานีตำรวจอยู่ 5 สถานี

ผลจากการหารือ สรุปว่า ‘ผู้อำนวยการเขต’ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่ดูแลฝ่ายปกครอง โดยเขตห้วยขวางจะเป็นต้นแบบสำหรับเขตอื่นๆ ในการทำงานต่อไป โดยที่ผ่านมามีการปิดไปแล้ว 4 ร้านที่ทำผิดเกี่ยวกับเรื่องผิดประเภทของการขออนุญาต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 66)

Tags: , , , , , ,