การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Multi – Lane Free Flow) โดยล่าสุดคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในต้นปี 65
กทพ. ได้ดำเนินการระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Multi – Lane Free Flow) โดยร่วมกับกรมทางหลวงในการบูรณาการให้เป็นไปในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) โดยในส่วนของ กทพ. ระยะที่ 1 จะดำเนินการที่ทางพิเศษฉลองรัช 3 ด่าน คือ ด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านสุขาภิบาล 5-2
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าในส่วนของ กทพ.ได้ลงนามในสัญญาจ้างงานติดตั้งอุปกรณ์ของระบบ Multi – Lane Free Flow (M-Flow) และพัฒนาซอฟต์แวร์และการเชื่อมต่อระบบ M-Flow กับ Single Platform System ของกรมทางหลวงระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 64 โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 120 วัน ซึ่งมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่ 13.18% (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2564) และได้ลงนามในสัญญาจ้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการ (Project Management Consultant: PMC) งานระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Free – Flow) ให้เป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 64 เพื่อให้สามารถดำเนินการระบบ M-Flow ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ โดยที่ปรึกษาฯ จะศึกษาในรายละเอียดเพื่อประเมินความเหมาะสมและปรับปรุงการออกแบบทั้งในส่วนงานซอฟแวร์ ฮาร์ดแวร์ และกระบวนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องสำหรับการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังเตรียมการในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเตรียมการในเรื่องการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์การเปิดให้บริการ M-Flow บนทางพิเศษ โดยจะเปิดทดสอบระบบเสมือนจริง (Soft Opening) ในเดือนมีนาคม 65 และเปิดให้บริการในช่วงเดือนเมษายน 65
ทั้งนี้ ระบบ M-Flow เป็นทางเลือกใหม่ของการชำระค่าผ่านทางพิเศษที่สะดวกรวดเร็วไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถ โดยใช้เทคโนโลยี Video Tolling ซึ่งเป็นระบบกล้องตรวจจับป้ายทะเบียนอัตโนมัติ (Automated License Plate Recognition) ด้วยเทคโนโลยี AI ร่วมกับระบบการตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ (AVI) เพื่อใช้ตรวจสอบยานพาหนะและระบุตัวตนผู้ใช้ทาง
สำหรับการใช้งานระบบ M-Flow ผู้ใช้บริการจะต้องลงทะเบียนรถยนต์ก่อนเริ่มใช้งานที่ www.mflowthai.com และ App : m-flow และสามารถใช้บริการช่องทางที่มีสัญลักษณ์ M-Flow ที่ไม่มีไม้กั้น โดยระบบ M-flow สามารถรองรับการใช้ความเร็วได้สุงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้สามารถระบายรถได้เร็วกว่าระบบเดิม รองรับการใช้งานของรถทุกประเภทและมีระบบแจ้งเตือนการใช้งานสำหรับช่องทางการชำระเงิน ผู้ใช้บริการสามารถชำระเงินค่าผ่านทางได้หลากหลายช่องทางอย่างสะดวกสบาย ทั้งรูปแบบการชำระเงินเป็นรายครั้งที่วิ่งผ่านทาง หรือรูปแบบชำระตามรอบบิลรายเดือน รวมถึงรองรับรูปแบบการชำระเงินด้วยตนเอง และรูปแบบการชำระเงินผ่านการตัดบัตรบัญชีสำรองของบัตร Easy Pass/M-Pass แบบอัตโนมัติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ต.ค. 64)
Tags: กทพ., กระทรวงคมนาคม, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, ค่าผ่านทางพิเศษ