นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) หรือ Double Deck เพื่อแก้ปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางด่วนว่า หลักการคือส่วนที่เป็นโครงข่ายเกี่ยวเนื่องกับทางด่วนสัมปทาน กทพ.จะไม่ลงทุนเอง โดยจะเจรจากับ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ให้เป็นผู้ลงทุน แลกกับการขยายระยะเวลาสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุดปี 2578 ออกไป ซึ่งขณะนี้ได้ศึกษาข้อมูลและแนวทางการดำเนินการ เตรียมนำเสนอคณะกรรมการ กทพ.พิจารณาอนุมัติในเดือนนี้
หากบอร์ด กทพ.เห็นชอบแนวทางการเจรจาให้ BEM เป็นผู้ลงทุนแล้ว จะมีการเจรจาเพื่อปรับปรุงสัญญาสัมปทาน ซึ่งเป็นขั้นตอนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 โดยคณะกรรมการตามมาตรา 43 จะพิจารณารายละเอียดร่างสัญญาและนำเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุด จากนั้นจะยำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
หลังบอร์ด กทพ.เห็นชอบ คาดว่าจะพิจารณาร่างสัญญาจนไปสู่การขออนุมัติและลงนามสัญญากับ BEM ได้ภายใน 2 เดือน หรือจะสามารถลงนามต่อขยายสัญญาสัมปทานได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หรือช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.67
นายสุรเชษฐ์ ชี้แจงว่า การเจรจากับ BEM ให้เป็นผู้ลงทุนเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เป็นประโยชน์ทั้งกับกทพ.และประชาชนมากกว่าที่กทพ.จะไปลงทุน 3.4 หมื่นล้านบาทเอง เพราะจะมีตัวเลขค่าลงทุนทางบัญชีเพิ่มแต่รายได้ไม่เพิ่ม เนื่องจากปริมาณรถที่จะเข้ามาใช้ Double Deck ก็เป็นรถเดิมที่ใช้เส้นทางอยู่แล้ว แต่การก่อสร้างจะช่วยลดความแออัด และแก้ปัญหารถติดในโครงข่ายทางด่วน ประชาชนไม่ต้องเสียค่าผ่านทางเพิ่ม ส่วนเอกชนลงทุนก็ไม่ได้ผลตอบแทนเช่นกัน แต่ กทพ.นำเวลาสัมปทานที่เพิ่มขึ้นไปแลก ก็เป็นความคุ้มค่าของเอกชน
“จะขยายกี่ปีขอรเจรจาให้ยุติชัดเจนก่อน โดยต้องประเมินทั้งค่าลงทุน ปริมาณจราจร สุดท้ายหากสรุปขยายไปอีกกี่ปี จะต้องสามารถชี้แจงตอบสังคมได้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เรื่องโครงการ Double Deck เดิมช่วงที่มีการเจรจาขยายสัมปทาน จากกรณีคดีพิพาทค่าผ่านทาง ระหว่างกทพ.กับ BEM นั้น ส่วนของ Double Deck หากเอกชนก่อสร้าง ตอนนั้นจะให้เวลาอีก 15 ปี วงเงินลงทุนตอนนั้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่ได้ตัดเรื่องนี้ออก จึงเหลือการขยายเวลาเฉพาะเรื่องคดี ที่ 15 ปี 8 เดือน “
ปัจจุบันค่าลงทุน Double Deck เพิ่มเป็น 3.45 หมื่นล้านบาท ก็ต้องเจรจากับภายใต้ข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ยังมีส่วนก่อสร้างเพิ่ม ทางด่วน 2 ชั้น ซึ่งเป็นไปตามแผนการแก้ปัญหาจราจร เช่น จากทางด่วนฉลองรัช บริเวณหน้าโรงพยาบาลศูนย์แพทย์ฯ วิ่งมาที่ศรีรัช ระยะทางประมาณ 2 กม. เพิ่มเข้าไปด้วย เป็นต้น จะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี
เปิด 5 แพคเกจแก้รถติดบนทางด่วน Double Deck-ขยายผิวจราจร
ด้านนายกาญผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าฯ กทพ. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน กล่าวว่า คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติให้ความเห็นชอบรายงานผลการศึกษาการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ ซึ่งในส่วนที่เป็นโครงการแก้ไขปัญหาจราจรในขอบเขตของสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 มีจำนวน 5 โครงการ ได้แก่
1. โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) หรือ Double Deck ระยะทาง 17 กม. เป็นการก่อสร้างทางด่วนซ้อนทับบนทางด่วนศรีรัช ขนาด 4 ช่องจราจร เริ่มจากต่างระดับงามวงศ์วาน หน้าด่านประชาชื่น สิ้นสุดที่บริเวณโรงพยาบาลพระราม 9 (ไม่มีการเวนคืนเพิ่มเติม)
2. โครงการขยายผิวจราจรบริเวณทางร่วมมักกะสันถึงทางลงถนนรัชดาภิเษก (แยกพระราม 9) มีขนาด 2 ช่องจราจร โดยใช้พื้นที่ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณบึงมักกะสัน ในการก่อสร้าง ระยะทาง 450 เมตร
3.โครงการปรับปรุงถนนจตุรทิศ ตอน ง. (ช่วงสะพานข้ามคลองชวดใหญ่) โดยการขยายสะพานข้ามคลองชวดใหญ่ และ ถนนจตุรทิศ ตอน ง.ขาเข้า บริเวณ ที่เป็น 2 ช่องจราจร ขยายให้เป็น 3 ช่องจราจร ระยะทาง 300 เมตร
4.โครงการทางเชื่อมทางพิเศษฉลองรัช (หน้าด่านพระราม 9-1) กับทางพิเศษศรีรัช เป็นทางเชื่อมยกระดับ (Bypass) ขนาด 2 ช่องจราจร จากบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพระราม 9-1 (ศรีรัช) สิ้นสุดโดยการเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชบริเวณโรงพยาบาล ปิยะเวช (ใช้พื้นที่กทพ.ก่อสร้าง) ระยะทาง 2 กม.
5.โครงการทางลงทางพิเศษศรีรัช (แยกพระราม 9/ถนนประดิษฐ์มนูธรรม) ขนาด 1 ช่องจราจร ขาเข้าเมือง ระยะทาง 200 เมตร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 67)
Tags: BEM, Double Deck, กทพ., การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, ทางด่วน, สัมปทาน, สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข