นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เป็นประธานในพิธีเริ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวน กาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง
โครงการฯ นี้ เป็นหนึ่งในโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในการกำกับและติดตามการดำเนินงานให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเดินเครื่องหัวขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและก้าวหน้าของโครงการฯ อย่างเป็นรูปธรรม โดย บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) ได้นำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานและมีความปลอดภัยที่ครบถ้วนทั้งต่อตัวผู้ปฏิบัติงานเองและต่อประชาชนที่สัญจรผ่าน
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและฝุ่นละออง PM 2.5 ในระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงการบรรเทาผลกระทบทางด้านการจราจร โดยเน้นย้ำให้มีการ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เส้นทาง ตลอดจนพิจารณาการใช้พื้นผิวจราจรสำหรับกิจกรรมก่อสร้างเท่าที่จำเป็น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีความก้าวหน้างานโยธาในภาพรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ 47.95%จากแผนงาน 40.10% และมีกำหนดเปิดให้บริการเดินรถภายในปี 2572 สำหรับการก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งใต้ดินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ จะใช้หัวขุดเจาะอุโมงค์ (Tunnel Boring Machine : TBM) รวมทั้งสิ้น 7 หัว โดยในส่วนของสัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง มีจำนวน 2 หัว ซึ่งขุดเจาะจากสถานีโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า มุ่งหน้าไปยังสถานีสะพานพุทธฯ จากนั้นจะยกหัวขุดเจาะอุโมงค์กลับมาที่สถานีโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อขุดเจาะไปยังบริเวณ Cut & Cover ซึ่งเป็นจุดเชื่อมกับโครงสร้างทางวิ่งยกระดับของสถานีดาวคะนอง โดยนำเทคโนโลยีหัวขุดเจาะอุโมงค์สมดุลแรงดันดิน (Earth Pressure Balance) มาใช้ ซึ่งเป็นระบบควบคุมสมดุลแรงดันในขณะขุดเจาะ และเป็นชนิดที่เหมาะกับสภาพชั้นดินอ่อนในเขตกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีเตาปูน และไปสิ้นสุดที่สถานีครุใน มีระยะทางรวมประมาณ 23.63 กิโลเมตร มีสถานี 17 สถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยรองรับการเดินทาง ของประชาชนจากกรุงเทพมหานครฝั่งเหนือไปยังกรุงเทพมหานครฝั่งใต้ และทำให้เดินทางเข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการได้โดยสะดวก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ม.ค. 68)
Tags: รถไฟฟ้าใต้ดิน, สุรพงษ์ ปิยะโชติ