นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยา ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร”ว่า ในช่วง 3 เดือนจากนี้ (ก.ค.-ก.ย.) ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะมีการเปิดประเทศ หรือการระบาดของโรคจะหนักขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถเปิดประเทศได้
โดยขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสายพันธุ์เดลตาซึ่งมีความรุนแรง และแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิมที่เคยระบาดในไทยกว่า 1.4 เท่า ซึ่งจากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นตรงกันว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า แนวโน้มผู้ติดเชื้อจะมีมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในกรุงเทพอยู่ที่ประมาณ 40% แล้ว ซึ่งในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้สายพันธุ์เดลตาจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยได้
“เดือนมิ.ย. ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโควิดกว่า 900 ราย ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ จะส่งผลให้เดือนก.ค.จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 1,400 คน และเดือนส.ค. 2,000 ราย และพอถึงเดือนก.ย.จะมีผู้เสียชีวิตเป็น 2,800 ราย ซึ่งสถานการณ์สาธารณสุขที่มีผู้เสียชีวิต 900 รายเริ่มติดขัดและมีปัญหาเตียง หากผู้เสียชีวิตแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ดังกล่าว ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยจะไม่สามารถรองรับผู้ป่วยต่อไปได้” นพ.คำนวณ กล่าว
อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงมีทางออก เนื่องจาก 80% ของผู้ที่เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ซึ่งหากสามารถปกป้องประชาชนกลุ่มนี้ได้จะสามารถลดยอดผู้เสียชีวิตได้จำนวนมาก โดยจากการศึกษาพบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ 100 ราย จะมีสัดส่วนการเสียชีวิต 10 ราย
เดิมประเทศไทยเคยวางยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนแบบปูพรม แต่หากประเทศไทยต้องการลดอัตราการเสียชีวิตยังสามารถเปลี่ยนยุทธศาสตร์ได้ คือใช้ยุทธศาสตร์แบบมุ่งเป้า เร่งฉีดให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อน เพื่อลดอาการป่วย และลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้หากประเทศไทยยังใช้ยุทธศาสตร์เดิม จากการฉีดวัคซีนในเดือนที่ผ่านมาแล้วกว่า 10 ล้านโดส โดยในจำนวนนี้มีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพียง 10% จึงอาจต้องใช้ระยะเวลากว่า 7-8 เดือนจึงจะสามารถป้องกันกลุ่มผู้สูงอายุได้ครบ โดยผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงมีจำนวนทั้งหมด 17.5 ล้านคน มีการฉีดวัคซีนแล้ว 2 ล้านคน ซึ่งอีก 15 ล้านคนที่เหลือควรจัดสรรฉีดวัคซีนให้ได้ภายใน 2 เดือนนี้ ทั้งนี้หากสามารถเดินตามยุทธศาสตร์นี้จำนวนผู้เสียชีวิตในเดือนส.ค. จะสามารถลดลงเหลือเดือนละ 800 ราย และคาดการว่าในเดือนก.ย. จะมีผู้เสียชีวิตเดือนละ 600-700 ราย ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตในระดับนี้อยู่ในวิสัยที่ทางสาธารณณสุขสามารถรองรับได้
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีการวางแผนในการจัดหาวัคซีนและขยายศักยภาพในการฉีดวัคซีน โดยการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของทางบริษัท สยามไบโอไซแอนท์ ในประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในเดือน ส.ค. คาดสามารถผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ราว 16 ล้านโดสต่อเดือน อย่างไรก็ตามจำนวนนี้จำเป็นต้องส่งมอบวัคซีนบางส่วนให้ประเทศอื่นๆ ด้วยตามนโยบายของแอสตร้าเซนเนก้า
ในเดือนมิ.ย.ไทยได้มีการทำข้อตกลงกับทางแอสตร้าเซนเนก้าว่าจะไม่ส่งวัคซีนให้ประเทศอื่น โดยในช่วงแรกของเดือนมิ.ย. ได้มีการส่งมอบวัคซีนจำนวน 6 ล้านโดสครบแล้ว แต่ในเดือนก.ค.วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าจะมีไม่ถึง 10 ล้านโดส อย่างไรก็ตามไทยไม่สามารถยุติการส่งออกได้ เนื่องจากอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งในสัญญาระหว่างไทย และแอสตร้าเซนเนก้าระบุจำนวนวัคซีนที่ไทยจะได้รับในปี 64 จำนวนทั้งหมด 61 ล้านโดส ซึ่งทางสถาบันวัคซีนได้ทำการส่งหนังสือเพื่อขอวัคซีนให้ได้จำนวนที่ต้องการ 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่ทางแอสตร้าเซนเนก้าระบุว่าไม่สามารถดำเนินการให้ได้ โดยสามารถส่งวัคซีนให้ไทยได้เดือนละ 5-6 ล้านโดสเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอกับความต้องการของไทยที่ต้องการเร่งฉีดวัคซีนตามเป้าเดือนละ 10 ล้านโดส ทางสยามไบโอไซแอนท์จึงอยู่ระหว่างการเร่งกำลังการผลิตให้มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการวัคซีนต่อเดือน
นพ.นคร กล่าวว่า เนื่องจากวัคซีนมีจำนวนไม่เพียงพอ ประเทศไทยจึงต้องทำการจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเพิ่มทั้งวัคซีนซิโนแวก วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม รวมถึงวัคซีนชนิด mRNA ที่เดิมประเทศไทยได้มีการเจรจาจองวัคซีนไฟเซอร์กับทางบริษัทไฟเซอร์ตั้งแต่เดือน มิ.ย. และขณะนี้อยู่ระหว่างการทำสัญญาสั่งซื้อจำนวน 20 ล้านโดสในปี 64 โดยทางไฟเซอร์ระบุว่าจะมีการส่งมอบวัคซีนให้ในไตรมาส 3/64 แต่ภายหลังทางไฟเซอร์แจ้งเลื่อนการส่งมอบเป็นไตรมาส 4/64 หรือตั้งแต่เดือนส.ค. เป็นต้นไป
ทั้งนี้วัคซีนจำนวน 20 ล้านโดสที่จะมาถึงนั้นจะทำการจัดสรรให้แก่กลุ่มเด็ก และเยาวชนเป็นหลัก โดยสรุปในช่วงไตรมาส 3/64 ไทยจะมีวัคซีนที่สามารถทำการส่งมอบได้คือวัคซีนซิโนแวก วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม
นอกจากนี้ทางสถาบันวัคซีนกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มที่ 3 ของวัคซีนทุกชนิด รวมถึงอยู่ระหว่างการวิจัยเรื่องการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดด้วย ซึ่งการศึกษาจะใช้ระยะเวลา 3 เดือน โดยกลุ่มที่จะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นกลุ่มแรกคือบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมกันนี้กำลังอยู่ระหว่างศึกษาการฉีดวัคซีนเชื้อตายในเด็กเพื่อเป็นทางเลือกในอนาคตด้วย
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงผลการกระจายวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-1 ก.ค. 64 มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 10,227,183 โดส โดยวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันคือวัคซีนซิโนแวก วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งไทยได้รับมอบวัคซีนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.พ. จนถึงปัจจุบันรวมเป็นจำนวน 12,965,360 โดสแบ่งเป็นวัคซีนซิโนแวก 7,475,960 โดส และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 5,489,400 โดส ทั้งนี้จำนวนผู้เสียชีวิตภายหลังการฉีดวัคซีน จากระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน คณะผู้เชี่ยวชาญได้ทำการสรุปแล้วว่าในขณะนี้ยังไม่มีรายใดที่มีข้อพิสูจน์ว่าเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน โดยส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตภายหลังการฉีดวัคซีนมาจากเหตุการณ์ที่เกิดร่วมกันเท่านั้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 64)
Tags: AstraZeneca, COVID-19, Sinopharm, Sinovac, กระทรวงสาธารณสุข, คำนวณ อึ้งชูศักดิ์, ซิโนฟาร์ม, ซิโนแวก, นคร เปรมศรี, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, วัคซีนทางเลือก, สยามไบโอไซแอนท์, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19, โอภาส การย์กวินพงศ์